ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้แปลหนังสือ “ประหยัดก้อนโต” และได้รับมอบหนังสือเล่มนี้มากับมือผู้แปล สิ่งแรกที่ทำคือ อ่านแบบคนญี่ปุ่น (เอานิ้วจิ้มแล้วอ่านคร่าว ๆ ทั้งเล่ม) พบว่า บทสุดท้ายมันเหมือนมีพลังงานอะไรบางอย่างดึงดูดให้อ่าน ต่อไปนี้เป็นเทคนิค ประหยัดเงินค่ารักษาพยาบาล ที่ผมสรุปได้จากหนังสือเล่มนี้
1.เลือกประกันสุขภาพ โดยใช้ฐานความคิดจากจำนวนเงินที่เราสามารถจ่ายได้
หลายคนพอจะเริ่มทำประกันสุขภาพจะเริ่มคิดจากว่า “เราจ่ายเบี้ยไหวกี่บาท” ซึ่งทำให้แบบประกันที่เลือกไป อาจจะไม่ช่วยประหยัดค่ารักษาในชีวิตจริง วิธีที่ผู้เขียนแนะนำ คือ ให้เริ่มคิดว่า “เราจ่ายค่ารักษาต่อครั้งไหวที่กี่บาท” เช่น เราควักเองไหวที่ครั้งละ 2 พัน จากนั้น ให้ประเมินว่าค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งที่ควรจะเป็นอยู่ที่เท่าใด เช่น โดยเฉลี่ยแล้วถ้าเจ็บป่วยหนึ่งครั้งรักษาให้หายแบบสบาย ๆ ไม่ทรมาน ต้องเสียค่ารักษาครั้งละ 5000 บาท แบบนี้เท่ากับส่วนต่างระหว่างกำลังทรัพย์ที่เราจ่ายไหวกับเพดานค่ารักษาที่มีมาตรฐานอยู่ที่ 3000 บาท
ดังนั้น เวลาเลือกแบบประกันให้เลือกกำหนดจำนวนเงินก้อนแรกที่เราจ่ายเองให้ถึง 2000 บาท โดยกำหนดให้ค่ารักษาที่เบิกได้จากกรมธรรม์ครอบคลุมจำนวน 3000 บาทต่อครั้ง วิธีนี้อาจจะทำให้เราเสียเบี้ยประกันมากกว่าปกติเล็กน้อย แต่เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาจริง ๆ ก็สามารถประหยัดรายจ่ายได้มากกว่าเช่นกัน ดีกว่าการจ่ายเบี้ยประกันไปเรื่อย ๆ แต่พอเจ็บป่วยหนักขึ้นมาจริง ๆ กรมธรรม์กลับไม่สามารถช่วยจ่ายในส่วนที่เกินกว่ากำลังทรัพย์เราได้
หมายเหตุ ปัจจุบันมีแบบประกันวงเงินสูงหรือที่เรียกกันว่า “เหมาจ่าย” ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้มากกว่า แต่เบี้ยประกันก็สูงกว่าเช่นกัน
2.เจรจาต่อรองค่ารักษาพยาบาลกับหมอ
จริง ๆ แล้ว รพ. ส่วนใหญ่ให้โควต้าหมอในการลดราคาให้ลูกค้าอยู่แล้ว และในหลาย ๆ โปรแกรมการรักษาหรือตัวยาที่หมอประเมินว่าเราต้องใช้ ก็ไม่ได้จำเป็นถึงขนาดนั้น สามารถสลับเอาวิธีการรักษาอื่นหรือตัวยาอื่น ๆ มาใช้แทนได้ ( อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนไม่รู้ อย่างวันก่อนที่สอนเรื่องการเล่าเรื่อง ก็มีนักเรียนที่เป็นตัวแทนประกัน สามารถทำเรื่องขอส่วนลดค่ารักษา ค่าห้องได้ด้วย คนธรรมดาแบบเรา ๆ ก็น่าจะลองถามกันบ้างว่ามีส่วนลดอะไรบ้างไหม )
3.ขอใบสั่งยาที่ระบุตัวยา ไม่ใช่ระบุแค่ยี่ห้อยา
ยาหนึ่งตัว หนึ่งส่วนผสม จะมีบริษัทผู้ผลิตเป็นหลายสิบบริษัท หลายสิบยี่ห้อ ดังนั้น ยี่ห้อยาที่หมอเขียนลงในใบสั่งยา หลายครั้ง ที่เราสามารถเอาไปซื้อยาที่มีคุณภาพและสรรพคุณเดียวกัน แต่ราคาถูกกว่ากันหลายเท่าได้เอง
4.กล้าเจรจาต่อรองกับโรงพยาบาล
ข้อนี้อาจจะฟังดูแปลก ๆ หลายคนไม่กล้าทำ แต่จริง ๆ แล้วทุกโรงพยาบาลจะมีทั้งฝ่ายรักษาและฝ่ายการเงินการบริหาร ซึ่งตั้งแต่เราเริ่มเข้าไปรักษา (ก้าวแรกที่เสียเงิน) เราสามารถหามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลโรคที่เราเป็นมาเทียบกับราคาที่ รพ. เสนอได้เลย
หากโปรแกรมการรักษาใดหรือตัวยาใด เกินเลยมาตรฐานไป เราสามารถเจรจาเพื่อปรับลดได้ และบ่อยครั้งเมื่อถึงขั้นตอนการเรียกเก็บเงิน รพ. มักจะเรียกเก็บเงินในรายการที่เราไม่ได้ใช้จ่าย ดังนั้น ตอนรับบริการรักษาต้องจับตาดู รพ. อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ผู้รับบริการสามารถนำวงเงินประกันที่ได้รับความคุ้มครอง หรือจำนวนเงินที่ควักจ่ายเองไหว มาเจรจากับหมอและ รพ. ได้ เพื่อหาจุดลงตัวของการจ่ายค่ารักษาก้อนใหญ่
______
ขอบพระคุณ ดร.รัญชนา Ranchana Rajatanavin ที่แปลหนังสือดี ๆ เล่มนี้
ที่ช่วยเพิ่มความฉลาดทางการเงินให้ผมครับ