วิชาเรียงความเป็นวิชาหนึ่งที่สร้างความสำเร็จให้กับคนมากมาย แต่ได้รับเครดิตน้อยยิ่งกว่าน้อย ในระดับเดียวกับวิชาพิมพ์ดีด ทักษะการพูด การนำเสนอ ก็ได้รับการยกย่องอย่างสูง ทั้งที่คุณจะเป็นนักพูดที่เก่งกาจไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่มีเรื่องที่จะพูด ทักษะการหาเรื่องมาพูดและการเขียนเรียงความคือ ทักษะรูปแบบเดียวกัน ปัจจุบันทักษะด้าน IT ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นทักษะที่บ่งบอกถึงความเป็นคนหัวก้าวหน้า เป็นคนยุคใหม่ แต่เดี๋ยวก่อน เพื่อนที่เก่ง IT เก่งคอม สมัยคุณเรียน ตอนนี้ทำอะไรกันอยู่ครับ
คนเก่ง IT จำเป็นต้องมีทักษะหนึ่งคือ การปรับตัวให้ทันโลกหรือก้าวหน้าเร็วกว่าโลกเสมอ ผมไม่ได้บอกว่าทักษะใดสำคัญหรือดีกว่าทักษะอย่างอื่น แต่ทุกทักษะล้วนมีความจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จ เป็นไม้ส่งต่อกันและกันเสมือนการวิ่งผลัด คุณคิดได้แต่ถ่ายทอดออกมาไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ คุณกล้าพูดต่อคนมากๆแต่ไม่มีข้อมูลหรือบทพูดที่ดีก็ไม่อาจสร้างความประทับใจได้
หลายคนเริ่มการเขียนบล็อกเพราะความชอบการเขียน แต่หลายคนเขียนบล็อกทำเว็บ เพราะเห็นโอกาสสร้างรายได้จากมัน ซึ่งก็มีความจำเป็นต้องมีบทความดีๆ การเขียนบทความคุณภาพสักห้าร้อยคำอาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ขึ้นกับหัวข้อ ข้อมูล และระดับความพึงพอใจของผู้เขียน แต่การเขียนไม่ใช่เพียงแค่การเติมสีดำลงบนพื้นที่ว่าง การเขียนที่ดีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การเขียนไม่ใช่เพียงแค่การบ่นเล่าเรื่องตัวเองออกไปในอากาศ
ทุกครั้งที่คุณเขียน มีคนอ่านเสมอ ไม่เหมือนกับที่คุณพูด ซึ่งอาจไม่มีคนฟัง หรือมีคนฟังแค่คนสองคน แต่บทความหรือข้อเขียนใน Facebook twitter blog มีคนอ่านและส่งต่อมากกว่าที่คุณคาดคิด ที่นักการตลาดบอกว่าการสร้าง Brandนั้นยาก แต่การแก้ไขนั้นยากที่สุด ครั้งต่อไปที่คิดจะเขียนหรือนำเสนออะไร คิดให้ดี ถ้าคิดว่าดีแล้ว ลองอ่านดูอีกสักรอบครับ อย่าเร่งรีบผลิตบทความเสียจนทำเพียงแค่ ค้นหาข้อมูลแล้วมาตัดแปะ (ผมเองก็ทำบ่อยๆ ในบางหัวข้อ) เพราะมันจะทำให้คุณไม่สนุก ไม่มีความสุขกับการเขียนเลย (เว้นแต่คุณไม่เคยทำงานนี้เพราะความชอบอยู่แล้ว) การทำอะไรซ้ำๆจะก่อเกิดเป็นความเคยชิน และกลายเป็นนิสัยในท้ายที่สุด กว่าคุณจะรู้ตัว คุณก็อาจจะกลายเป็นสุดยอดนักสร้างบทความ ด้วยเทคนิค Copy&Paste
เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้คุณเขียนบทความได้สนุก และมีความสุขมากขึ้น อีกทั้งบทความชั้นยอดก็จะนำมาซึ่งปริมาณคนเข้าชมที่มากขึ้น การจัดอันดับที่ดีขึ้น และรายได้ที่มากขึ้น
1. เขียนในเรื่องที่ตัวคุณสนใจอย่างแท้จริง เรื่องการหารายได้มาทีหลัง คุณต้องหาเรื่องที่คุณชอบ สนใจ คลั่งไคล้ ที่จะคิดถึงมัน นึกถึงมันเสมอ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความอยากบอกต่อ อยากเล่าให้คนอื่นฟัง ลองนึกดูครับ มีเรื่องอะไรที่ทำให้คุณตื่นเต้น และรู้สึกตื่นเต้นแบบนี้บ้างไหม
2. เขียนให้เหมือนที่คุณพูด การพูดเป็นสไตล์ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของคุณ พูดเร็ว พูดช้า สุภาพ ตลก คุณสามารถถ่ายทอดมันออกมาในบทความได้เช่นกัน คงลำบากน่าดูถ้าคุณมีวิธีพูดอีกอย่าง แต่ตอนเขียนคุณเขียนอีกอย่าง
3. ศึกษาทักษะพื้นฐานของการเขียนบ้าง ว่ากฎและมาตรฐานที่ยอดนักเขียนเขาใช้กันมีอะไรบ้าง เช่น ความยาวบทความที่เหมาะสม รูปแบบการใช้สรรพนาม บทเริ่มต้น บทสรุป แต่ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องยึดตามเสมอไป เอาที่เป็นแบบตัวคุณนั่นแหล่ะ เพียงแต่บางครั้งเราก็ควรทำในสิ่งที่ได้รับการค้นคว้ามาแล้วว่ามันเหมาะสม
4. เขียนให้อ่านง่าย สะกดให้ถูกต้อง บทความดีๆที่สะกดผิดเยอะแยะ ไม่เคยมีในโลกนี้ ถ้าคุณพิมพ์ใน Microsoft Word จะมีตัวช่วยตรวจสอบการสะกดของคุณ ถ้าคุณไม่แน่ใจหยิบมือถือขึ้นมา มีเครื่องมือดีๆมากมายที่จะช่วยคุณได้ในเรื่องนี้
5. ข้อมูลนั้นสำคัญ แต่ต้องอย่าลืมความเป็นศิลปะในการเขียนบทความ ข้อมูลดีๆมีอยู่มากมาย ใครๆก็ค้นหาได้ แต่การรวบรวม คัดเลือกมาให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการเขียนบทความต่างหากที่คุณควรให้ความสำคัญ รวมทั้งการเลือกใช้รูปภาพ ไม่ต้องมาก แต่สื่ออารมณ์ที่คุณต้องการได้ดี และอย่าลืมให้แหล่งเครดิตที่คุณเอามาด้วยล่ะ เพราะวันหนึ่งคุณอาจดัง ตอนนั้นคุณอาจเดือดร้อนเพราะเรื่องเล็กๆน้อยๆนี้ได้ แล้วจะหาว่าไม่เตือน
6. ถ้าคุณต้องการรายได้จากบทความ ต้องการให้มีคนอ่านบทความ อย่าลืมค้นหาคำหลัก Keywords research ให้ดีก่อนครับว่า เจ้าหัวข้อที่คุณกำลังจะนำเสนอนี้คนทั่วไปเขาเรียกว่าอะไร เขาค้นหาคำว่าอะไรกัน ถ้าพวกเขาต้องการข้อมูลเรื่องนี้ เว้นแต่คุณเขียนเพราะความสนุก ไม่ได้ต้องการให้ใครอ่าน ก็ข้ามข้อนี้ไปได้เลย
7. หัวข้อ ประโยคพาดหัว ต้องโดน เรียกว่าประโยค H1 ในบทความของคุณ คือส่วนที่สำคัญที่สุด ชาวโลกออนไลน์จะค้นพบเจ้าประโยคที่ทาง SEO เขาเรียกกันว่า H1 นี้ก่อนเนื้อหาอันสุดยอด ถ้าคุณพาดหัวไม่ได้เรื่อง เนื้อหาเทพๆก็คงไม่มีใครเข้าไปอ่าน (หัวข้อบทความอาจจะไม่ได้เป็น H1 ทั้งนี้ขึ้นกับเครื่องมือที่คุณใช้สร้างเว็บหรือบล็อกด้วยครับ) แต่อย่าพาดหัวเกินจริง แล้วทำให้ถูกคนอ่านด่าเอานะครับ
8. บทความที่ดี ต้องแชร์ อย่าเขียนไว้อ่านคนเดียวครับ แบ่งปันความคิดอันสุดยอดของคุณออกไป มันอาจสร้างแรงบันดาลใจ หรือช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นๆได้ อย่าดูถูกฝีมือหรือบทความของคุณ เชื่อผมสิครับ ต้องมีคนชอบมันบ้างแน่นอน
สิ่งที่สำคัญคือ ทำสิ่งที่คุณรักและสบายใจ มีความสุขที่จะทำ โดยเฉพาะการเขียน ถ้าคุณเขียนบ่อยๆ คุณยิ่งเก่ง ถ้าคุณเขียนเรื่องที่คุณชอบ คุณจะยิ่งมีความสุข ถ้าคุณจำใจเขียนเรื่องที่ไม่ได้สนใจ นานวันไปคุณจะเบื่องานเขียน เบื่อตัวเอง เริ่มต้นวันนี้ วันที่คุณยังไม่ดัง ยังไม่มีคนติดตาม เขียนในแนวทางของคุณ ในแบบของคุณ อย่างน้อย คุณก็จะมีความสุข และสนุกกับงานเขียนครับ