“ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง” นั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก และมีบทบาทอยู่ในทุกอุตสาหกรรม เพราะคำพูด ข้อความ ที่เล่าออกไป มีผลต่อการตัดสินใจ การซื้อ การชื่นชอบ ของผู้คนโดยตรง จนอาจกล่าวได้ว่า ตราบที่โลกนี้ยังคงมีการสื่อสารเป็นสะพานเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกันอยู่ ใครก็ตามที่ “เล่าเรื่องได้ดี” ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าและง่ายกว่า โดยคุณสมบัติสำคัญของการเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีนั้น มีดังต่อไปนี้
- ชื่นชอบและเข้าใจความดราม่า
ไม่ว่าจะเขียนนิยายหรือบทขายสินค้า อย่าลืมใช้พลังของดราม่า ที่ไหนมีดราม่า ที่นั่นมีคนมุง ที่นั่นมีการโต้เถียง ออกความคิดเห็น และเกิดกระแสขึ้นได้เสมอ เพราะจุดสำคัญของเรื่องดราม่า คือ “ความขัดแย้ง” ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คน
ดังนั้น ในการจะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี เราจึงต้องเป็นคนที่หลงใหลความดราม่าพอควร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เสพ แต่ต้องวิเคราะห์แยกแยะจนสามารถ “สร้างความดราม่า” ให้เกิดขึ้นในเรื่องเล่าของเราได้ รู้จักที่จะสร้างเรื่องราวที่มีความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการออกความคิดเห็น การพูดถึงได้ เหมือนกับหนังทุกเรื่อง นิยายทุกเล่ม ที่ล้วนมีความดรามา ความขัดแย้งเป็นปมสำคัญที่คอยดึงให้คนอ่านคนดูติดตามว่า จะคลี่คลายลงได้อย่างไร
- เข้าใจความเป็นจริงของมนุษย์
แม้เรื่องเล่าเหนือจริงแฟนตาซีนั้นจะเป็นสิ่งที่น่าดึงดูด แต่ในความแฟนตาซีของทุกเรื่องเล่า ก็แฝงไปด้วยพื้นฐาน “ความจริง” ของมนุษย์ทั้งสิ้น อาทิ ความรักระหว่างเทพผีปีศาจ แม้จะเป็นเรื่องของอมนุษย์ แต่ความรักก็เป็นความรู้สึกที่มนุษย์ทุกคนเข้าถึง
การต่อสู้กันของเทพ ฮีโร่ยอดมนุษย์ ที่แม้จะเต็มไปด้วยพลังเหนือธรรมชาติ แต่ก็ตั้งอยู่บนความจริงเรื่องการแย่งชิงอำนาจ การปลดเอกอิสรภาพ การปกป้องดูแลคนที่รัก เป็นต้น เพราะความจริงในทุกแง่มุมของมนุษย์นั้น คือสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องเล่าให้เข้าถึงใจผู้คนได้
ดังนั้น การจะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี จึงต้องเข้าใจความจริงบนโลก เข้าใจความรู้สึกของมนุษย์ ขุดลึกลงไปเล่าถึงทุกปมปัญหาในใจ เพื่อดึงให้ผู้คนจมรู้สึกร่วมไปกับเรื่องที่เราเล่า
- เชื่อในความฝัน
ความฝันคือ “จินตนาการ” หรือ “เป็นความเหนือจริง” ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับเรื่องเล่า เป็นการเปิดประตูสู่โลกที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน โดยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่าแนวแฟนตาซีเหนือจริง ได้รับความนิยมโด่งดัง ดังนั้น การจะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี บางทีเราก็ต้องไม่เชื่อแค่ความจริง แต่ปล่อยให้ความฝันได้ทำงานบ้าง เชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้บ้าง ตั้งคำถามที่เหลือเชื่อบ้าง เพื่อนำพาเรื่องเล่าของเราไปสู่ความแปลกใหม่ ที่โดดเด่น และไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน
- ไม่เล่าเรื่องเรียบง่ายเกินไป
แม้เราทุกคนจะไม่ชอบความลำบาก ชอบอะไรที่ง่ายๆ เพื่อความสำเร็จ แต่พอเป็นในมุมของการเสพเรื่องเล่านั้น เรากลับมักชอบความลี้ลับ ชอบความซับซ้อน ที่เดาไม่ออก ชอบการต้องคอยติดตาม อยู่ตลอดว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร จะเป็นอย่างที่คิดไว้หรือไม่
ดังนั้น ในกระบวนการของการเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี จึงควรใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่เผยเรื่องราวทั้งหมดแบบเป็นเส้นตรง แต่ควรกักเก็บเนื้อหาสำคัญ ทิ้งประเด็นเอาไว้ให้ลุ้น ให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงความสนใจของผู้คนให้อยากติดตามเรื่องเล่าของเราไปตลอด
- ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา
ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องด้วยการพูด หรือการเขียน “การใช้ภาษา” ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้เรื่องเล่าของเราทรงพลังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไวยกรณ์ ที่ต้องใช้ให้ถูกต้อง การใช้คำศัพท์ให้ถูกความหมาย รวมถึงสำนวนการใช้ภาษาที่สละสลวยไพเราะ
องค์ประกอบเหล่านี้หากนักเล่าเรื่องทำได้ครบถ้วน ก็จะทำให้เรื่องเล่ามีพลังดึงดูดผู้คนได้เป็นอย่างดี เหมือนกับที่เวลาเราอ่านนิยาย หรือดูหนังจบแล้ว เรามักจะจดจำคำพูด ข้อความ จากหนังสือ จากหนัง จากตัวละครตัวใดตัวหนึ่งได้ขึ้นใจ แม้เวลาจะผ่านมานานแล้วก็ตาม
- รักและมีเป้าหมายในการเป็นนักเล่าเรื่อง
ถ้าไม่รักที่จะเล่า ไม่ชอบที่จะถ่ายทอดเรื่องเล่า ก็ไม่มีทางที่เราจะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีได้ เพราะความรักในอาชีพการพูด หรือเขียนเพื่อเล่าเรื่องราวนั้น จะทำให้เราพัฒนาตัวเอง หาข้อมูล และปรับปรุงแก้ไขการเล่าเรื่องของเราอยู่เสมอ จนทำให้เรากลายเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีที่เก่งขึ้นกว่าเดิมได้ในทุกๆ วัน
นอกจากนั้นแล้ว นักเล่าเรื่องที่ดียังต้อง “มีเป้าหมาย” ที่ชัดเจนด้วยว่า ต้องการประสบความสำเร็จที่จุดไหน ต้องการสื่อสารเล่าเรื่องเพื่อประโยชน์ เพื่อวัตถุประสงค์ใด โดยเป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้น จะผลักดันให้การเล่าเรื่องของเรามีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเรากลายเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
การจะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวเลยว่า จะต้องเรียนจบสาขาไหน ต้องเป็นคนที่เขียนเก่งเท่านั้น หรืออ่านหนังสือเยอะเท่านั้น จึงจะเล่าเรื่องได้ดี แต่เราทุกคนสามารถเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีได้ เพียงแค่มีใจรักที่จะเล่าเรื่อง และเข้าใจว่าการจะเล่าเรื่องได้ดีนั้น ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง จากนั้นก็ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ ฝึกฝนการเล่าเรื่องไปตามลำดับขั้นตอน ก็จะทำให้เรากลายเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ด้วยการเล่าเรื่องที่ดีต้องอาศัยความเข้าใจโลก เข้าใจคนอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้รู้ว่า “เรื่องแบบไหน” จึงจะมัดใจคนได้ การจะเป็นนนักเล่าเรื่องที่ดีได้จึงต้อง “ไม่รีบร้อน” แต่ต้องค่อยๆ คิด ตกผลึก และฝึกฝนไปทีละนิดๆ ศึกษาชีวิตผู้คนในสังคมให้มาก เพราะยิ่งเราเข้าใจผู้คนได้มากเท่าไร เราก็มีโอกาสจะเล่าเรื่องที่ผู้คนสนใจได้มากเท่านั้น