ทุก เรื่องเล่า ที่น่าติดตาม น่าสนใจนั้น นอกจากจะเพราะการฝึกฝนของคนเล่าแล้ว เรื่องเล่ายังใส่เทคนิคพิเศษเอาไว้ด้วย ซึ่งเทคนิคสำคัญ ๆ ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1.เชื่อมโยงเหตุการณ์กับช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง
การที่เราเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง โดยชี้ให้เห็น “ช่วงเวลา” ของเรื่องเล่านั้น ยิ่งเล่าให้เห็นการเดินทางจากยุคหนึ่งไปยังอีกยุคหนึ่งได้ จะยิ่งเพิ่มความสมจริง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกนึกตามไปถึงช่วงเวลานั้น ดูว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ จนอินตามกับเรื่องเล่าไปได้ง่ายขึ้น เช่น เรื่องเล่ายุคสมัยเรียน ย้อนกลับไป เล่าตอนเรียนว่าเป็นยังไง เจออะไรบ้าง ผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะเป็นอย่างวันนี้ หรือการเล่าเจาะช่วงเหตุการณ์สำคัญ เช่น ช่วงน้ำท่วม ช่วงต้มยำยุ้ง ช่วงโควิดที่ผ่านมาเป็นยังไง เจออะไร เป็นต้น
การที่ เรื่องเล่า บอกเวลาได้ มีที่มาที่ไป เล่าจากอดีตมาปัจจุบัน เล่าจากปัจจุบันย้อนไปอดีต คือ การเชื่อมโยง ดึงผู้ฟังให้เข้าสู่ เรื่องเล่า ของเราผ่านการจินตนาการ ตามเวลาที่ทำให้ผู้ฟังคิดตามได้ว่า ตอนนั้น ตอนเป็นเด็ก ตอนทำงาน พวกเขาเป็นยังไง เป็นแบบคนเล่าไหม หรือเจออะไรที่เหมือนต่างจากเรื่องเล่าหรือเปล่า
2.เผยให้เห็นความเปราะบางของตัวละคร
ความเปราะบางในที่นี้ หมายถึง ความบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์ ความผิดพลาด ความล้มเหลว ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ ยิ่งตัวละครมีความบกพร่องมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผู้ฟังอินได้ง่ายขึ้น รู้สึกสมจริง เชื่อมโยงความบกพร่องนั้นกับตัวเอง แล้วพยายามค้นหาติดตามฟังไปต่อว่า ตัวละครจะพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะได้ไหม
ยกตัวอย่างเช่นการเล่าเรื่องของแจ็ค หม่า ที่เราเคยได้ยินกันตลอดว่าเขาล้มเหลวมามาก สมัครงานก็ไม่เคยได้ สมัครกี่ครั้งก็ไม่มีใครรับทำงาน เคยสมัครพนักงาน KFC แต่ก็ถูกปฏิเสธ ความเปราะบาง ความไม่สมบูรณ์ของแจ็ค หม่านี้ ทำให้ผู้คนอินกับเรื่องราวความสำเร็จของเขามากขึ้น เพราะรู้สึกว่าเขาก็เป็นคนธรรมดา ซึ่งเราก็คนธรรมดา จึงน่าจะสำเร็จได้แบบแจ็ค หม่า เช่นกัน
3.ทำให้ตัวละครมีพัฒนาการ
เป็นการเสริมพลังให้กับเรื่องเล่า ต่อจากการเผยความเปราะบางของตัวละครคือ เมื่อตัวละครไม่สมบูรณ์แบบแล้ว ดูธรรมดาแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรื่องเล่ามีความพิเศษก็คือ การพลิกกลับมาชนะได้ของตัวละคร ดังนั้น ในเรื่องเล่าที่ดี จึงต้องแสดงให้เห็นว่า จากที่แย่ ๆ กลายเป็นดีได้อย่างไร หรือตรงกันข้ามจากที่ดี ๆ กลายเป็นแย่ได้อย่างไร
แต่การเลือกใช้พัฒนาการที่แย่ลงนั้น ก็ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับแนวคิดหลักของการเล่าด้วย เช่น เป็นการเตือน การสอนว่าห้ามทำสิ่งไม่ดี ไม่งั้นชีวิตจะล้มเหลวพังไม่เป็นท่า
4.สร้างความสงสัยให้ได้
สิ่งที่ทำให้คนเฝ้าติดตามซีรี่ย์ตอนต่อตอน รอออนแอร์จนลงแดงก็คือ การอยากรู้ว่า .. “มันจะเป็นอย่างไรต่อไป” “จะรอดด้วยวิธีไหน?” “จะลงเอยกับใคร?” “ทำไมถึงเป็นแบบนี้?” ฯลฯ เมื่อไรก็ตามที่เราทำให้เรื่องเล่ามีความน่าสงสัยได้ในทุก ๆ ช่วงของการเล่าเรื่องล่ะก็ เมื่อนั้นคนฟังจะอยู่กับเราเสมอ
ยกตัวอย่างหากเป็นการเล่าเรื่องของเรา ก็ต้องทำให้เขาเห็นความบกพร่องของเรา ตามลุ้นเชียร์เราว่า เรามาสำเร็จได้อย่างไร ใช้วิธีอะไร ในการฝ่าฟันอุปสรรค แล้วพลิกชีวิตตัวเอง ทำให้เกิดความสงสัยว่าอดีตเราแย่ แล้วปัจจุบันเราดีได้อย่างไร เป็นต้น
4 เทคนิคการเล่าเรื่องนี้ สามารถประยุกต์ใช้ได้กับเรื่องเล่าทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเอาไปเขียนเรื่องสั้น นิยาย ทำหนัง เขียนบทเล่าขายสินค้า หรือเล่าเรื่องพรีเซ็นต์งาน ตลอดจนเล่าเรื่องทั่วไปเวลาคุยกับเพื่อน ๆ ก็สามารถที่จะหยิบบางเทคนิคไปใช้ได้ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับเรื่องเล่าที่เราเล่ามากขึ้น