Managing Oneself หนึ่งในงานที่ทรงคุณค่าและทรงพลังที่เขียนโดย ปรมาจารย์การจัดการของโลกอย่าง ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ เล่มนี้กล่าวโดยสรุป เล่าถึงการจัดการตนเอง ซึ่งจัดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป การจัดการตนเองนั้น หมายรวมไปถึงหลากหลายหัวข้อเช่น การถามคำถามตัวเอง การทำแบบทดสอบค้นหาความถนัด หรือการโค้งชิ่ง การบริหารเวลา การวางเป้าหมาย และอีกหลายสิ่ง ที่เราๆท่านๆ ได้ทำกันอยู่ แต่อาจจะเป็นการคิดถึงปัจจัยภายนอกเสียมากกว่า คิดถึงแต่ความสำเร็จ คิดถึงแต่อนาคต
ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ดรักเกอร์ จะพาเราย้อนกลับไปสู่ความเรียบง่าย หนังสือบางๆ อ่านเพียงสองชั่วโมงกว่า ก็จบครับ แต่แนะนำว่า ควรหาที่สงบ มีสมาธิดีๆในการอ่านและคิดตาม ผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนได้พูดคุยกับผู้เขียนโดยตรง หนังสือสั้นกระชับ ถามคำถามตรงๆ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อ่านจบ บางคนอาจรู้สึกว่า ได้เวลาเริ่มต้นชีวิตใหม่เสียที เพราะคุณน่าจะรู้จักตัวเองดีขึ้นพอสมควร
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การวิเคราะห์ หาจุดอ่อนจุดแข็งตรงๆ แต่เป็นการทบทวน ณ ปัจจุบัน คุณคือใคร ค่านิยมของคุณ ความสามารถของคุณ คืออะไร เพราะเวลาเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญ ชุดคำถามสำคัญ เพื่อทบทวน และแบ่งปันเพื่อนๆนักอ่านจะได้ถามตัวเองไปด้วยกัน
คำถามที่ถามในเรื่องใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ควรรู้
1. จุดแข็งของฉันคืออะไร ไม่ใช่แค่ถาม แต่ต้องทบทวนทุก 9-12 เดือน
เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง เราจำเป็นต้องวางตัวเอง ในจุดที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้สูงสุด เราจำเป็นต้องตระหนักรู้สิ่งนี้ตลอด 50 ปีของการทำงาน ซึ่งนั่นหมายถึงการรู้ว่า เราควรเปลี่ยนงานของเรา เมื่อไหร่ อย่างไร
คุณดรักเกอร์บอกว่า ให้ลืมการแก้ไขจุดอ่อนไปได้เลย เราจะสร้างผลงานได้จากจุดแข็งของเราเท่านั้น แต่น่าเสียดายที่การศึกษาใช้เวลา 80-90% ไปพัฒนาจุดอ่อนให้ดีในระดับ พอใช้ได้ เราควรฝึกปฏิเสธ บอกปัดงานที่เราไม่ถนัด งานที่จะกินเวลาและพลังงานของคุณ
และหัวใจสำคัญคือ เมื่อคิดจะเริ่มต้นทำสิ่งใด ให้คิดเลยครับว่า คุณคาดหวังผลจากการกระทำนี้อย่าไร ในอีก 9-12 เดือนข้างหน้า
2. ฉันมีวิธีการทำงานอย่างไร ในสังคมงานที่เป็นงานของผู้มีความรู้ คำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญกว่า ฉันมีจุดแข็งอะไร วิธีการทำงานแบ่งเป็นนักอ่านและนักฟัง เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามา แม้จะฝึกได้ แต่ก็พัฒนาได้ไม่มากนัก
ในโลกนี้มีคนรู้น้อยนักว่ามีแบ่งการทำงานเป็นสองประเภท มีน้อยมากที่ทำงานได้ทั้งสองแบบ และน้อยลงไปอีกที่จะรู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน แต่มีมากมายที่ทำงานไม่ได้เรื่องทั้งสองแบบ
- นักอ่าน ต้องการเวลาในการคิดทบทวน ใช้ความรอบคอบ วิเคราะห์ข้อมูล จอนห์ เอฟ เคนเนดี้ คือตัวอย่างของนักอ่าน ที่ทำงานกับทีมข้อมูล ทุกครั้งที่ต้องพูด จะกล่าวจากสุทรพจน์ที่เรียบเรียงมาอย่างดี
- นักฟัง สามารถทำอะไรได้รวดเร็ว ถามตอบได้ทันที แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียด ตัวอย่างคือ แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ และ แฮรี่ ทรูแมน ซึ่งจะสนุกกับการตอบคำถาม การพบปะผู้คนเป็นพิเศษ
3. ฉันมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร คุณดรักเกอร์แบ่งการเรียนรู้ไว้ได้ 5 ประเภท แต่ข่าวร้ายคือ การศึกษาทั่วโลก คิดว่า รูปแบบการศึกษาแบบเดียว ใช้ได้กับเด็กทุกคน เราจึงพบเห็นเด็กที่มีปัญหาการเรียนบางวิชา บางหัวข้อ แต่ทำได้ดีในบางกิจกรรม หรืออาจล้มเหลวในการเรียน แต่ประสบความสำเร็จในการงานแทน การศึกษาเรียนรู้ทั้งห้า คุณเป็นคนกลุ่มไหนครับ
- การเขียน
- การลงมือทำ
- การฟังตัวเอง
- การจดบันทึก
- วิธีอื่นๆ
4. ฉันทำงานกับผู้อื่น หรือทำงานคนเดียวได้ดี เป็นตัวกำหนดบทบาท และทางเลือกของคุณเลยครับ ว่าจะเลือกงานแบบไหนดีให้เหมาะกับตัวเอง
- ทำงานกับผู้คนได้ดีกว่า
- ทำงานคนเดียวได้ดีกว่า
5. ฉันเป็นผู้นำ หรือเป็นผู้ตาม แน่นอนครับว่า ถ้าเดินออกไปถาม ทำแบบสำรวจว่า คุณต้องการเป็นผู้นำ หรือ ผู้ตาม ส่วนใหญ่คงตอบ ผู้นำ แต่ในชีวิตจริง บางคนเป็นผู้นำที่ดี บางคนเหมาะกับเป็นผู้ตามที่ยอดเยี่ยม คุณล่ะครับ คิดว่าตัวเองคือ …
- ผู้นำ
- ผู้ตาม
6. ฉันสร้างผลงานในฐานะ คนตัดสินใจหรือที่ปรึกษา สองบทบาทที่เป็นภาระหนัก หรือบทบาทสำคัญขององค์กร แต่ก็ใช้ทักษะ ความชำนาญที่ต่างกัน และเป็นบุคลิกที่ติดตัวมา พัฒนาได้ แต่ไม่ใช่ทาง ลองดูครับที่ผ่านมา เป็นคนตัดสินใจอะไรเอง หรือชอบให้คำปรึกษา แล้วโยนภาระการตัดสินใจให้ใครสักคน
- คนตัดสินใจ
- ที่ปรึกษา
7. ฉันเป็นหมายเลขหนึ่ง หรือสอง ข้อนี้คล้าย กับผู้นำและผู้ตาม แต่ต่างกันที่เป็นลักษณะงานในองค์กร รองผู้บริหารที่ดี ก็ไม่ได้การันตีว่า เขาจะก้าวไปเป็นเบอร์หนึ่งที่ดีได้ เพราะการเป็นเบอร์หนึ่งต้องแบกรับความรับผิดชอบของการตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งก็หนักเกินไปสำหรับ หมายเลขสอง
- หมายเลขหนึ่ง
- หมายเลขสอง
8. ฉันทำงานได้ดีภายใต้แรงกดดันหรือความแน่นอน เรื่องนี้จะบอกคุณได้ครับว่าคุณเหมาะกับองค์กรใหญ่ที่มีแรงกดดันสูง หรือเหมาะกับองค์กรขนาดเล็กลงมาที่คุณสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้มากขึ้น
- ภายใต้แรงกดดัน
- สถานการณ์ที่ควบคุมได้
9. ฉันให้คุณค่ากับสิ่งใด ถามตัวเองว่า “ฉันต้องการเห็นคนแบบไหน เมื่อฉันส่องกระจำใจตอนเช้า” อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่จงพยายามเป็นคนที่ดีขึ้น เติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น ในแบบที่เหมาะสมกับตัวคุณ คุณให้คุณค่ากับสิ่งใด ถ้าเป็นเรื่องงาน ลองถามถึงสองสิ่งนี้ดูครับ
- คุณค่าของตัวเอง
- คุณค่าองค์กร
10. ฉันเล็งเป้าระยะสั้นหรือยาว แล้วมันสอดคล้องกับงานที่ทำ ในองค์กรที่ทำไหม ไม่ผิดหรือถูก ที่บางคนจะเล็งเป้าระยะสั้น และบางคนเล็งระยะยาว แต่จะเกิดปัญหาได้ ถ้าบริษัทคุณคิดถึงผลระยะยาว กำไร การเติบโตระยะยาว แต่ไม่ได้ใส่ใจผลระยะสั้น ไม่ได้ดูแลรายได้พนักงานระยะสั้นว่า เหมาะสมไหม ถ้าคุณมองระยะยาวเหมือนกัน ย่อมเห็นในทางเดียวกันได้ แต่คนที่มองระยะสั้น จะไม่สามารถทนได้แน่นอน
- ระยะสั้น
- ระยะยาว
11. ภาพรวมของตัวตนของเรา ประกอบด้วย จุดแข็งและวิธีการทำงาน การให้คุณค่า การตัดสินใจ
ประสานทั้งสามส่วนแล้วคุณจะพบว่าคุณเหมาะกับงานแบบไหน จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับแรงปรารถนา หรือแรงบันดาลใจ แต่ให้ส่องลงไปในตัวตนของเรา ค้นพบ ….คนที่เราเป็น
12. ที่ทางของฉันอยู่ที่ไหน มีน้อยคนมากที่จะรู้ตั้งแต่แรกว่า ตัวเองต้องการเดินไปทางไหน ส่วนใหญ่มักเลยวัย 25 ปีไปแล้ว การจะตอบคำถามนี้ว่า งานหรือองค์กรที่เหมาะกับฉันนอยู่ที่ไหน คุณต้องตอบคำถามสามข้อให้ได้เสียก่อนว่า จุดแข็งคุณคือ วิธีการทำงานของคุณคือ คุณค่าของคุณคือ
13. ฉันควรอุทิศตนให้กับสิ่งใด
- ถามตัวเองว่า ขณะนี้ ต้องการสิ่งใด
- แล้วย้อนกลับไปคิดถึงจุดแข็ง วิธีการทำงาน การให้คุณค่า
- คุณจะพบวิธีการที่จะทุ่มเทเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
- ที่สำคัญคุณต้องมีเป้าหมายที่คุณต้องการบรรลุ
14. การจัดการตนเองต้องรวมถึงความใส่ใจในความสัมพันธ์กับผู้คน
- อะไรคือจุดแข็งของพวกเขา
- พวกเขามีวิธีการทำงานอย่างไร
- อะไรคือคุณค่าที่พวกเขายึดถือ
“จงไถ่ถาม องค์กรสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ หาใช่การใช้กำลัง”
15. ครึ่งสองของชีวิต
ชีวิตของแต่ละคนอาจมีมากกว่าสองช่วง แต่ในที่นี้หมายถึงเรื่องการทำงานครับ สมัยก่อนองค์กรจะอายุยาว คนทำงานอายุสั้น อยู่กันทั้งชีวิตในองค์กรเดียว แต่สมัยนี้ อายุคนยาวกว่าองค์กร บริษัทที่เปิดและปิดตัวภายใน 5-10 ปี เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยมาก การมองหาโอกาสใหม่ งานใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คนยุคนี้ต้องมีทักษะนี้ นอกจากอารมณ์เบื่องาน คนเรามักทำงานถึงจุดสูงสุดในอาชีพประมาณอายุ 45 ปี จะเกิดอะไรขึ้นถ้างานที่คุณทำ ไม่เหลือความท้าทาย หรือเส้นทางก้าวหน้าได้แล้ว จึงเป็นที่มาของ “ครึ่งสองของชีวิต”
วิธีการเตรียมตัวให้พร้อมกับอาชีพในครึ่งสองของชีวิตคือ อย่ารอให้ถึงเวลา เริ่มสร้างงาน อาชีพคู่ขนานไปได้เลย ซึ่งเป็นแนวทางในปัจจุบันอยู่แล้วที่แต่ละคนมีงานประจำ แต่ก็มีงานเสริม ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ แม้แต่เจ้าของกิจการเอง ก็ยังต้องมองหาช่องทางรายได้ให้มากกว่าหนึ่งช่องทาง หรือบางคนก็ใช้วิธี การเริ่มต้นใหม่ ออกจากงานที่เดิม ไปทำที่ใหม่ หรือทำกิจการส่วนตัว
แต่ในบทสรุปของหนังสือคุณดรักเกอร์ไม่ได้มุ่งที่การทำงาน ทำเงิน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง งานที่คุณควรจะมีทำควบคู่งานสร้างรายได้คือ งานเพื่อสังคม งานที่ไม่ได้คาดหวังผลกำไร (แม้สุดท้ายมันอาจจะกลายเป็นงาน หรือธุริกจให้คุณได้ก็ตาม)
บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ คือ จงเป็นตัวของตัวเองในแบบที่คุณจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดีที่สุด หลายคนล้มเหลวในอาชีพการงาน ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่เก่ง หรือ ไม่ขยันมากพอ แต่เพราะพวกเขาไม่รู้จักตัวเอง เท่านั้นเอง