สรุปหนังสือ เพราะแบบนี้ลูกค้าถึงอยากกลับมาอีกครั้ง หนังสือที่ว่าด้วยการเพิ่มยอดขายจากการที่มีลูกค้ากลับมาอีกครั้ง หนังสือเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า คุณรู้หรือไม่ว่าลูกค้าของคุณเป็นลูกค้าขาจรกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้าประจำกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วมีลูกค้ามากน้อยแค่ไหนที่เคยมาครั้งเดียวแล้วไม่มาอีกเลย
ทุกคนย่อมรู้อยู่แล้วใช่ไหมครับว่า การหาลูกค้าใหม่มีต้นทุน สูงกว่าการรักษาลูกค้าเก่ามากมาย แต่ทำไมในชีวิตจริง เราถึงกับทุ่มเทเงิน ทุ่มเทเวลาไปกับการหาลูกค้าใหม่ เรามักเห็นร้านค้าหลายๆธุรกิจแทบจะลืมลูกค้าเก่าไปเลย
ตัวอย่างธุรกิจหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน ที่พวกเขาไม่ใส่ใจลูกค้าเก่าเลย คือธุรกิจผู้ให้บริการมือถือ ผู้ให้บริการทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต ล้วนแต่มองหาผู้ใช้รายใหม่ มีโปรโมชั่นสารพัดในการดึงดูดคนใหม่ แต่ลูกค้าเก่าแทบจะมองตาปริบๆ ว่าทำผิดอะไรทำไมถึงต้องจ่ายแพง
ร้านอาหารเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่จำเป็นต้องใส่ใจกับการดึงลูกค้าเก่ากลับมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีไหนก็ตาม ลูกค้าเก่าสำคัญที่สุด คำที่ว่ากันว่าลูกค้าคือพระเจ้า อาจจะไม่ได้ไปจริงเสมอไป แต่ถ้าลูกค้าเก่าที่กลับมาใช้บ่อยๆ นั่นแหละ ใกล้เคียงกับคำว่าพระเจ้ามากที่สุดแล้ว
ด้วยเทคโนโลยีและระบบการตลาดในปัจจุบัน สามารถทำให้เรารู้ได้ชัดเจนมากขึ้นว่า ลูกค้าคนไหนมียอดซื้อเท่าไหร่และซื้อบ่อยแค่ไหน ทำให้เราทำการตลาดกับลูกค้าเก่าได้ง่ายขึ้น รู้แบบนี้แล้วอย่างเพียงแต่แค่รู้นะครับ ต้องเริ่มมาดูข้อมูลและวางแผนการตลาดการได้แล้ว ว่าจะจัดการอย่างไรให้ลูกค้าเก่ากลับมาเป็นลูกค้าประจำได้อย่างสม่ำเสมอ
ในหนังสือเล่มนี้ เพราะแบบนี้ลูกค้าถึงอยากกลับมาอีกครั้ง บทแรกนั้นจะชวนไปคุยกันว่าทำไมลูกค้าถึงไม่กลับมาอีก เขาบอกว่าคำตอบง่ายๆ ที่ลูกค้าไม่กลับมาร้านอีกเลย ก็คือ ลูกค้านึกไม่ได้ครับ ว่ามีร้านเราอยู่
อย่าลืมนะครับว่าจริงๆ แล้วร้านอาหารมีมากมาย แม้จะแบ่งเป็นประเภทเดียวกับเราแล้ว ก็ยังมีอยู่มากมายจะทำอย่างไรให้ลูกค้านึกถึงเราได้ อาจกล่าวได้ว่า ในหนังสือ เพราะแบบนี้ลูกค้าถึงอยากกลับมาอีกครั้ง ให้ความสำคัญกับลูกค้าเก่ามาก จนถึงกับบอกว่า มันไม่สำคัญเลยว่าร้านเรามีเมนูอะไรอาหารอร่อยแค่ไหน บริการเป็นอย่างไร ถ้าเกิดลูกค้านึกไม่ได้ จำไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ครับ
เลือกหัวข้ออ่าน
วิธีขายสำคัญกว่าทุกสิ่ง
สินค้าเหมือนกัน ทำเลเดียวกัน ทำไมขายได้ไม่เหมือนกัน นั่นเพราะวิธีการขายที่แตกต่างกัน ตัวแทนประกันเป็นหมื่นคน ขายสินค้าเหมือนกัน แต่วิธีต่างกัน ร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ขายสูตรเดียวกัน แต่วิธีการขายต่างกัน ถ้าเจาะจงลงไปหน่อย ก็คือ วิธีการสื่อสาร การพูดคุย การบริการที่ต่างกัน แทนที่จะวิ่งวนหาสินค้าใหม่ ปรับสูตร ลดราคา ลองปรับวิธีการขายกันดูสักทีดีกว่าไหม
วิธีการสื่อสารมีความสำคัญมากไม่น้อยไปกว่าวิธีการปรุงอาหาร
ที่หนังสือ เพราะแบบนี้ลูกค้าถึงอยากกลับมาอีกครั้ง กล่าวแบบนี้เพราะว่าในการสื่อสารครั้งแรกสุด จะเป็นตัวดึงดูดลูกค้าที่คุณต้องการ ถ้าคุณสื่อสารผิด คุณก็จะได้ลูกค้าผิด ทำให้ต้องตามแก้ปัญหา เช่นถ้าคุณสื่อสารเรื่องการลดราคาออกไป มันก็จะทำให้คุณได้ลูกค้าที่ต้องการแต่เรื่องราคา ทำให้เขามาเพราะลดราคา หลังจากนั้นเขาก็ไม่กลับมาอีก
แต่ถ้าสื่อสารในเรื่องของคุณค่าของร้านอาหาร เช่น การสื่อสารเรื่องวัตถุดิบชั้นเลิศ บริการชั้นเยี่ยม เทคนิคการทำอาหารที่เป็นสูตรลับเฉพาะ เรื่องต่างๆเหล่านี้จะสร้างความต่างให้กับธุรกิจของคุณ ให้กับร้านของคุณ และจะดึงดูดคนที่สนใจเรื่องเหล่านี้เข้ามา เมื่อเขาเข้ามาแล้ว พบว่าสิ่งที่คุณนำเสนอตรงกับความเป็นจริง สิ่งที่คุณให้บริการ อาหารของคุณอร่อยตรงกับคำโฆษณา ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะไม่ใช่เป็นเรื่องยากเลย ที่จะทำให้ลูกค้าเขากลับมาใช้บริการคุณในครั้งต่อๆไป
กฎของเลข 3 ที่คุณต้องใส่ใจในการสร้างลูกค้าประจำ
หัวใจสำคัญของหนังสือ เพราะแบบนี้ลูกค้าถึงอยากกลับมาอีกครั้ง คือเขาสรุปว่า ลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำ 2 ครั้งขึ้นไปภายใน 3 เดือน มีแนวโน้มจะกลายเป็นลูกค้าประจำ มากกว่าลูกค้าที่ซื้อครั้งเดียวภายใน 3 เดือนถึง 7 เท่า
ในหนังสือเล่มนี้ ( เพราะแบบนี้ลูกค้าถึงอยากกลับมาอีกครั้ง ) ผู้เขียนจะกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคือ 3 เดือน เราจะวัดว่าลูกค้าคนไหนคือ คนที่มีโอกาสเป็นลูกค้าประจำ หรือลูกค้าขาจร ถ้าใน 3 เดือน ใครก็ตามได้กลับมาซื้อซ้ำ เราเรียกว่า คนที่มีโอกาสเป็นลูกค้าประจำ แต่ถ้าเกิดเขามาครั้งเดียวภายในรอบ 3 เดือน ก็จะเรียกว่าเป็นลูกค้าขาจร
ทำไมต้อง 3 เดือน
เคยได้ยินไหมครับที่เขาบอกว่า อย่าลืมเอาเรื่องที่เรียนไปทบทวนภายใน 8 ชั่วโมง ซึ่งก็คือประมาณ 3 วันนั้นเอง เพราะว่าสมองมนุษย์นั้น จะจำอะไรได้อย่างดีที่สุดภายในแค่ 80 ชั่วโมงหรือประมาณ 3 วันเท่านั้นนะครับ ถ้านานกว่านี้ลูกค้าเขาก็จำไม่ค่อยได้แล้ว และยิ่งภายใน 3 สัปดาห์สมองมนุษย์จะย้ายข้อมูลนั้นไปเก็บไว้ในส่วนที่ดึงออกมาใช้งานได้ยากถ้าเลย พอคิดถึงระยะ 3 เดือนแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะจำเรื่องนั้นอีก
มันจึงเป็นกลยุทธ์เลข 3 ของหนังสือเล่มนี้นะครับคือให้เราสื่อสารกับลูกค้า 3 ครั้งในรอบ 3 เดือนดังต่อไปนี้ ลองดูคำแนะนำที่สรุปจาก หนังสือ เพราะแบบนี้ลูกค้าถึงอยากกลับมาอีกครั้ง
ครั้งที่ 1 ให้เรียกว่า thank you email
คือการส่งจดหมายขอบคุณ บอกลูกค้าว่า เรามุ่งมั่นทำงานนี้เพื่ออะไร บอกจุดเด่นของเราไป ส่วนนี้จะเป็นการสื่อสารแบบการชมตัวเอง การบอกเล่าความคิดของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า เขาได้มาในร้านที่มีความต่างจากที่อื่นจริงๆ จดหมายนี้เป็นจดหมายขอบคุณนะครับ อย่าลืมต้องเขียนขอบคุณอย่างจริงใจด้วย ให้ลูกค้าอ่านแล้วรู้สึกได้ว่า เราสำนึกจริงๆ ที่เขามาเยี่ยมชม มาใช้บริการร้านเรา
ครั้งที่ 2 เรียกว่าจดหมาย like mail
เป็นจดหมายที่มี concept ใช้รีวิวของลูกค้ามาช่วยอ้างอิง ว่าร้านของเราดีแบบไหนดี อย่างไร อันนี้คุณจะต้องเริ่มทำการรวบรวมการรีวิวของลูกค้าไว้ และส่งข้อมูลนี้ให้กับลูกค้า ที่ได้มาร้านเรา ภายใน 3 สัปดาห์โดยประมาณ จะทำให้เขาคิดถึงร้านเราและรู้สึกได้ว่า ร้านเรานั้นแตกต่างและมีข้อดีจริงๆ โดยอาศัยการการันตี การแนะนำจากบุคคลที่ 3 ที่ไม่ใช่ตัวเจ้าของร้านเอง จะเป็นรางวัลจากงานประกวด หรือรางวัลการแข่งขันก็ได้เช่นกัน
ครั้งที่ 3 คือจดหมาย Love Mail ที่ส่งไปภายในไม่เกิน 3 เดือน
อาจจะบางร้านจะใช้แค่ 2 เดือนก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม จดหมายฉบับนี้เรียกว่าเลิฟเมล์ เป็นการส่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมักจะเป็นการเสนอโปรโมชั่นพิเศษ ให้กับคนที่มาร้านเรา นั่นหมายความว่า ถ้าเขาเห็นแล้วเขายังไม่มาอีก ก็ให้ลบชื่อเขาลบเมลเขาออกจากฐานข้อมูลของเราไป เพราะว่ากลุ่มนี้แม้ว่าจะส่งอีกเท่าไหร่เขาก็คงไม่สนใจที่จะมาเยี่ยมชมมาใช้บริการร้านเราอีกแล้ว
ข้อควรระวังในการให้ส่วนลด
การให้ส่วนลดเป็นดาบสองคม ที่อันตรายมากๆ การให้ส่วนลดกับลูกค้ากลุ่มที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสเป็นลูกค้าประจำ เพื่อหวังให้เขากลับมาอีกสักครั้ง แต่ถ้าส่วนลดนี้ไปถึงมือลูกค้าประจำ ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นการสื่อสารให้รู้สึกร้านเราดูด้อยราคาลง หรือทำให้ลูกค้าประจำที่ต้องซื้อในราคาปกติ รู้สึกเสียความรู้สึกที่จ่ายแพงกว่าปกติ
มีวิธีการแนะนำก็คือ ส่งจดหมายให้ส่วนลดกับลูกค้าเก่าด้วย แล้วก็เขียนว่านี่คือสิทธิพิเศษสำหรับเขา แต่ต้องมาใช้ในช่วงระยะเวลาเท่านั้น หรือทำกิจกรรมตั้งแต่แรกว่า ขอความคิดเห็นให้ช่วยติชมหรือให้ลงทะเบียนอะไรก็ตาม แล้วเราส่งเป็นคูปองส่วนลดพิเศษให้ เป็นเสมือนของรางวัลจากการร่วมกิจกรรมแบบนี้ ลูกค้าก็จะไม่รู้สึกว่าเราทำการลดราคาจนน่าเกลียด แต่จะรู้สึกว่ามันคือกิจกรรมพิเศษมากกว่า
กลไกการเลือกร้านของลูกค้า
จะเริ่มจากการนึกออกแล้วว่าจะไปร้านนั้น >>> ก็ดีนะเอาร้านนั้นละกัน ไม่ใช่ว่า แล้วไปร้านนั้นก็ดีนะ >> เอาอันนั้นละกัน >> แล้วนึกออก อันนี้จะต้องทำความเข้าใจกลไกนี้ให้ดีๆก่อนว่า การนึกออก คือหัวใจสำคัญในการตัดสินของลูกค้า เราจะเป็นร้านที่ลูกค้านึกออกได้อย่างไร ในช่วงที่ลูกค้าอยากจะทานอาหารหรืออยากจะใช้บริการนั้นๆของธุรกิจเรา
บางครั้งร้านคุณก็ไม่ได้แย่อะไรเลยเพียงแค่สื่อสารไม่ดีพอเท่านั้นเอง
ในหนังสือจะเป็นการพูดถึงการเขียนเมล ซึ่งหมายถึงการเขียนจดหมายจริงๆ ในยุคปัจจุบันการส่งอีเมลก็ยังไม่ได้รับการอ่านเลย การใช้ line OA หรือว่าใช้โปรแกรม application ที่ส่งข้อมูล อาจจะได้ผลมากกว่า แต่คุณก็จะต้องทำการแท็กหรือว่าคัดกรองลูกค้าแบ่งเป็นหมวดให้ได้ดีพอด้วย
วิธีหนึ่งที่อยากจะแนะนำคือการส่ง SMS เป็นวิธีง่ายๆที่ตรงประเด็นตรงเป้า และลูกค้ามีโอกาสเปิดอ่านด้วย การส่ง SMS ไม่ใช่เป็นแค่ข้อความเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่เราสามารถส่งเป็นลิงค์ให้ลูกค้ากดคลิกไปยังเว็บไซต์ได้ เว็บไซต์ยังเป็นส่วนสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์ ที่จะช่วยทำให้การสื่อสารของคุณมีประสิทธิภาพสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ลูกค้าคนนี้เคยซื้อของไปกี่บาท
การรู้ว่าลูกค้าเคยซื้อของเมื่อไหร่และเท่าไหร่มีความสำคัญ เพราะการที่คุณจะขายของราคา 200 ให้กับคนที่เคยซื้อของ 300 บาท เปรียบเทียบกับการขายของ 200 ให้กับคนที่เคยซื้อของ 1,000 บาท คุณย่อมมองเห็นได้ชัดเจนทันทีว่า เสนอให้ใครน่าจะมีโอกาสขายได้มากกว่ากัน แต่คนส่วนใหญ่มักจะเสนอข้อเสนอเดียวกันกับทุกๆคน ทำให้ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีพอ
แบ่งคนเป็น 2 แบบ
สามารถแบ่งคนบนโลกเป็น 2 ประเภทคือ คนที่ซื้อของของคุณ กับคนไม่ซื้อของคุณ แบบนี้แม้จะดูผิดตำราการบริหารการตลาด แต่จริงๆแล้วก็ถูกนะครับ ในหนังสือบอกว่าการที่คนจะซื้อของจาก mail order จากธุรกิจซื้อขายของผ่านจดหมาย ก็แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ คนที่ซื้อกับไม่ซื้อ
คนที่ไม่ซื้อของผ่าน mail order คุณเขียนให้ดียังไง คุณอธิบายให้ตาย เขาก็ไม่ซื้อ เพราะเขามีความไม่ความคุ้นเคยกับการซื้อของผ่านเมล order หรือไม่คิดจะซื้อตั้งแต่แรกนั้นเอง
มันก็เหมือนกับการขายของออนไลน์ ที่คุณสามารถแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่มได้ คือกลุ่มที่ซื้อของออนไลน์และกลุ่มที่ไม่ซื้อของออนไลน์ คุณจะขายของออนไลน์คุณก็ไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะเป็นสื่อสารพยายามให้คนที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์ เปลี่ยนใจอยากจะซื้อของกับคุณ
ในการทำธุรกิจเมลออเดอร์นั้น ใช้วิธีการแบ่งแยกง่ายๆคือ การขายแคตตาล็อกออกไปเลย คนที่สนใจซื้อแคตตาล็อกสินค้าของคุณนั่นแหละ เขาก็พร้อมที่จะซื้อของผ่านเมลออเดอร์ของคุณ ถ้าใครที่ไม่อยากได้เขาก็ไม่สนใจที่จะซื้อมา order ของคุณอยู่แล้ว
แต่ในทาง facebook การทำการตลาดผ่าน facebook นั้นมีเรื่องง่ายกว่านั้น คือเราสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เคยมีประสบการณ์ในการซื้อออนไลน์ได้เลย เช่นการเลือกกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ก็จะได้เจอคนเหล่านั้นได้
จะเลือกร้านของคุณไปทำไม
นี่คือคำถามที่คุณต้องถามตัวเองว่า ลูกค้าจะเลือกร้านของคุณไปทำไม ถ้าคุณตอบได้ธุรกิจของคุณก็จะง่ายขึ้น สำหรับลูกค้าใหม่ราคาไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เขากำลังมองหาความแตกต่าง หรือมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์เขา แต่ถ้าธุรกิจทั้งหลายไม่มีความต่าง สุดท้ายแล้วผู้บริโภคก็จะเหลือแค่ราคาเพราะว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นให้ตัดสินใจ
ไม่มีใครชอบคำว่าทุกคน เวลาคุณจะขายอะไรกับใคร คุณต้องพยายามโพซิชั่นนิ่งสินค้าของคุณ ให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่คุณต้องการ กลุ่มลูกค้าที่คุณต้องการคือใคร คำว่ายาที่ได้ผลกับทุกคนย่อมต่างจาก ยาลดไข้สูง 40 องศาได้ภายใน 10 ชั่วโมง
ตัวอย่างธุรกิจที่น่าสนใจ คือ uniqlo โดยร้าน uniqlo มีของขายมากมายก็จริงแต่ว่า uniqlo ไม่เคยโฆษณาอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เขาจะโฆษณาสินค้า 1 สินค้าหลัก แล้วเขียนเจาะลึกไปเลยว่า สินค้านั้นใช้วัตถุดิบดีเลิศแค่ไหน สินค้าใน collection นั้นหลากหลายเพียงใด และมีสีครบครันแค่ไหน
แน่นอนพอคนเข้าไปในร้านก็จะเจอสินค้าอื่นๆ และหยิบไปด้วยด้วยอารมณ์ที่ว่า สินค้าที่โฆษณานั้นดูดีมาก เป็นเพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาก ทำให้คิดไปเองว่าสินค้าอื่นๆ ที่อยู่ในร้าน อยู่ใน shop uniqlo ก็น่าจะดีด้วยเหมือนกัน
ทีนี้การทำการตลาดของยูนิโคลก็จะทำการตลาดเป็นเหมือน season การโฆษณาสินค้าใดสินค้าหนึ่งก็จะใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป ถึงคราวเปลี่ยนสินค้าใหม่ ก็จะระดมสื่อสารสินค้าตัวใหม่ไปเลย ก็จะได้ลูกค้าอีกกลุ่มนึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มไหน พอเข้ามาในยูนิโคแล้วก็มีโอกาสที่จะไปช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าอื่นๆพ่วงไปด้วย
ขายคน สำคัญที่สุด
เทคนิคที่สำคัญและเป็นเกร็ดเล็กน้อยที่ดูใช้ได้จริง ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เวลาขับรถไปต่างจังหวัด หรือขับรถไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เมื่อมองหาร้านกาแฟที่ไม่ใช่แบรนด์ดัง เราจะมองหาร้านที่ดูน่าสนใจ แต่ก็จะเกิดสงสัยว่าร้านนี้มีคนนั่งหรือเปล่า ร้านเปิดหรือเปล่า
เมื่อใดก็ตามที่ร้านนั้นมีคนออกมาเช็ดโต๊ะ เช็ดกระจก กวาดพื้น ขัดร้านอยู่ เราก็รู้สึกว่าร้านนี้น่าเข้า นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเราสัมผัสได้ถึงคนที่อยู่ในร้าน การขายคนสำคัญกว่าการขายสินค้า
สินค้าแต่ละร้านอาหารแต่ละร้านก็คล้ายๆกัน อันนี้คุณยอมรับไหมว่า มันเป็นเรื่องที่เราหนีไม่พ้น แต่คนที่อยู่ในร้าน เจ้าของร้าน พนักงานในร้านนั่นแหละสำคัญมาก บทสนทนาที่อยู่ในร้านสำคัญมากไม่แพ้รสชาติอาหารที่ยกมาให้บริการ
ถ้าเชฟพ่อครัวหัวคนเก่งของคุณ พยายามสร้างสรรค์เมนูอาหารชั้นเลิศออกมา แต่พนักงานต้อนรับหรือเด็กที่ยกอาหารไปให้ลูกค้า กลับพูดจาไม่ดี หรือไม่มีกิริยามารยาทที่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดปัญหาได้
ถ้าคุณต้องเปิดร้านอาหารแล้วแข่งกันที่รสชาติ ราคา หน้าตาของเมนู ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะต้องเหนื่อยต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคุณแข่งโดยขายตัวคุณเอง นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณไม่ต้องเหนื่อยในระยะยาว
หนังสือเล่มนี้ยังมีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยอีกเยอะแยะเลยนะครับ แนะนำเลยใครที่ทำร้านอาหาร หรือทำธุรกิจที่ให้บริการ ควรจะรีบจัดมาอ่านนะครับเป็นของสำนักพิมพ์ welearn ราคาเล่มละ 220 บาทเท่านั้น เพียงแต่ว่าเนื้อหาในหนังสือที่คุณอ่านแล้ว อาจจะรู้สึกว่าเป็นวิธีที่โบราณไปนิดนึง เช่นการพูดถึงการส่งเมลแต่จริงๆ แล้ว คุณสามารถใช้หลักการนี้ ปรับให้เข้ากับเครื่องมือการสื่อสารการตลาดออนไลน์ได้ทุกตัวในปัจจุบัน
แนะนำเลยครับแล้วคุณจะได้ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าประจำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน