มงคล 38 ประการ สุดยอด How To จากพระพุทธเจ้า
ในคำสอนมงคล 38 ประการของ พระพุทธเจ้า ถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจชั้นเลิศ มิให้มนุษย์อย่างเรากระทำความผิด รู้ผิดชอบชั่วดี บางคนเข้าวัดทำบุญมาโดยตลอด ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ แต่ภายในจิตใจของเขานั้นกลับหยาบกระด้าง นึกแต่จะคิดร้ายต่อผู้อื่น หรือบางคนอยากจะเป็นผู้นำที่ดี คอยสั่งสอนผู้อื่น มิให้นินทาว่าร้าย อย่าเหยียดผู้อื่น สุดท้าย ตนเองกลับเป็นเสียเอง กลายเป็นคนกลับกลอก ยากที่ผู้คนจะนับถือ ซึ่งในมงคล 38 ประการ จากคำสอนของ พระพุทธเจ้า ที่กำลังจะกล่าวต่อไปนั้น นอกจากจะช่วยมิให้คุณหลงผิดแล้ว คุณยังสามารถนำคำสอนไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
1. การไม่คบคนพาล
คุณเคยได้ยินประโยคนี้ไหม “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลนั้นมีด้วยกัน 3 ประการ คือ การคิดชั่ว การพูดชั่ว และการทำชั่ว
ลักษณะของคนพาล มีข้อควรสังเกต คือ..
- ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด เช่น แนะนำให้ค้าขายยาเสพติด เพราะได้เงินง่ายและรวยเร็วกว่า , การลักขโมยของผู้อื่น , การเล่นพนันบอล
- ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระของตนเอง เช่น การนินทาว่าร้ายกัน
- ไม่มีระเบียบวินัย เช่น เวลาขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส การเข้าแถวขึ้นรถไฟ ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ผู้คนที่ไม่มีระเบียบวินัยนั้น สังเกตง่ายๆคือ มักจะแย่งกันขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริง แค่คุณเข้าคิวต่อแถว ใช้เวลาน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ
2. การคบบัณฑิต
บัณฑิต คือ ผู้มีความรู้ มีสติปัญญา และจิตใจที่ดี
ลักษณะของบัณฑิต มีข้อควรสังเกต คือ..
- ผู้ที่คิดดี เช่น ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น, รู้จักให้อภัย
- ผู้ที่ทำความดี เช่น ทำอาชีพที่สุจริต, มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์
- คนพูดดี เช่น ไม่เหยียดสีผิวหรือรูปลักษณ์ผู้อื่น, ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ
3. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
การบูชา คือ การแสดงความเคารพต่อบุคคลที่ควรนับถือ ซึ่งบุคคลที่ควรบูชา ได้แก่ พระพุทธเจ้า , พระสงฆ์, พระมหากษัตริย์, บิดามารดา, ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ดี
4. การอยู่ในถิ่นอันสมควร
ถิ่นอันสมควร ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม 4 อย่าง ได้แก่ อาวาสเป็นที่สบาย, อาหารเป็นที่สบาย, บุคคลเป็นที่สบาย, ธรรมะเป็นที่สบาย เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ..
- อาวาสเป็นที่สบาย เช่น ที่พักอาศัย อยู่ในที่ที่ปราศจากมลพิษ ไม่มีแหล่งอบายมุข เดินทางสะดวก
- อาหารเป็นที่สบาย เช่น ที่พักอาศัยอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด สะดวกต่อการซื้ออาหาร
- บุคคลเป็นที่สบาย เช่น มีแต่มนุษย์ที่คอยช่วยเหลือกัน ไม่มีโจรขโมย
- ธรรมะเป็นที่สบาย เช่น ละแวกที่พักอาศัยของคุณ อยู่ใกล้วัด โดยคุณสามารถไปนั่งปฏิบัติธรรม กล่อมเกลาจิตใจ หรือใกล้โรงเรียน ใกล้ห้องสมุด เพื่อที่คุณจะได้หาความรู้
5. การทำบุญ
ตามหลักคำสอนของ พระพุทธเจ้า ในการทำบุญนั้น คือ การให้ทาน รักษาศีล การปฏิบัติธรรม
- การทำทาน คือ การให้ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเสื้อผ้าแก่เด็กบนดอย หรือบริจาคหนังสือเรียน การให้ทานเป็นเงิน ก็ถือว่าเป็นการทำทาน
- การรักษาศีล 5 ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ผู้อื่น การไม่ผิดลูกผิดเมีย การไม่ดื่มสุรา การไม่พูดเท็จ
- การเจริญภาวนา เช่น การปฏิบัติธรรม ฟังธรรมะ สวดมนต์ ทำสมาธิ
6. การตั้งตนชอบ
การตั้งตนชอบ คือ การมีเป้าหมายของตนเอง และพยายามที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ โดยมีการวางแผนและอยู่ในความไม่ประมาท
7. ความเป็นพหูสูต
พหูสูต คือ การเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด รอบรู้ และมีเหตุผล
ลักษณะของพหูสูต มีข้อควรสังเกต คือ..
- รู้ลึก เช่น รู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ไทยอย่างถ่องแท้ รู้ในหลักคำสอนของ พระพุทธเจ้า
- รู้รอบ เช่น รู้จักช่างสังเกตสิ่งรอบๆตัว
- รู้กว้าง เช่น หากคุณรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทย คุณก็ควรรู้ประวัติศาสตร์ต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยด้วย
- รู้ไกล เช่น การศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อที่จะป้องกันการเกิดน้ำท่วมในอนาคต
8. การรอบรู้ในศิลปะ
ศิลปะ คือ สิ่งที่แสดงออกถึงความงดงาม คุณสามารถสื่ออารมณ์ ความรู้สึกของคุณ ผ่านภาพศิลปะนั้นๆได้
ลักษณะของผู้รอบรู้ในศิลปะ มีข้อควรสังเกต คือ..
- มีความคิดสร้างสรรค์
- ชอบสังเกตและพิจารณา
- มีความประณีต ละเอียดอ่อน
9. มีวินัยที่ดี
วินัย คือ ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา โดยวินัยของสงฆ์นั้นเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปนั้นเรียกว่า อกุศลกรรม
วินัยสำหรับพระสงฆ์
- การอยู่ในศีลทั้งหมด 227 ข้อ
- มีความสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ
- มีการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ คือ การออกบิณฑบาต โดยไม่เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้าน
วินัยสำหรับบุคคลทั่วไป
- การถือศีล 5 ข้อ
- การไม่พูดจาหยาบคาย
- การไม่พูดจาไร้สาระ
- การไม่ละโมปโลภมาก
- การไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น
- การไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น การเชื่อว่า บุญกรรมไม่มีจริง
10. กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
คุณอาจจะนึกถึงสำนวนสุภาษิต แต่ในความหมายของ พระพุทธเจ้า กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต หมายถึง การกล่าวที่เป็นความจริง สุภาพ ไม่มีคำหยาบ และเมื่อคุณกล่าววาจาออกไปแล้ว ต้องเป็นประประโยชน์แก่ผู้ฟัง อีกทั้ง ไม่ว่าจะกล่าวด้วยถ้อยคำใดๆ ควรมีกาลเทศะ อย่างเช่น ในงานศพ ก็ไม่ควรพูดคุยเรื่องตลกขบขันเสียงดังเกิน ควรที่จะให้เกียรติเจ้าภาพและผู้เสียชีวิตด้วย
11. การบำรุงบิดามารดา
- ผู้เป็นบิดาและมารดา เป็นได้ทั้งครูของลูก เพราะท่านทั้งสองคนคอยอบรม สั่งสอน
- ผู้เป็นบิดาและมารดา เป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านคอยปกป้อง คุ้มครอง ดูแลคุณตั้งแต่คุณยังเล็กจนคุณเติบโต
- ผู้เป็นบิดาและมารดา เป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งคุณควรเคารพนับถือและเทิดทูนท่าน แม้บางครั้งท่านดุเรา เราอย่าไปถือโทษโกรธท่านเลย
12. การสงเคราะห์บุตร
ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า “บุตร” มีด้วยกัน 3 ประเภท
- อภิชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเหนือกว่าบิดาและมารดา
- อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเสมอบิดาและมารดา
- อวชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถต่ำกว่าบิดาและมารดา
หากคุณมีลูก สิ่งที่คุณควรสั่งสอนลูก คือ การสอนลูกไม่ให้กระทำความชั่ว ทำแต่ความดี สนับสนุนในสิ่งที่ดีให้แก่เขา
13. การสงเคราะห์ภรรยา
ภรรยา หรือ คู่ครองของฝ่ายชาย มี 7 ประเภท
- วธกาภริยา (ภรรยาเสมอเพชฌฆาต) ถือว่า อันตรายมาก เพราะประเภทนี้ คิดร้ายต่อสามี แอบคบชู้ หนักสุดก็อาจจะฆ่าสามีตนเอง
- โจรีภริยา (ภรรยาเสมอโจร) ชอบสร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ใช้ไม่พอ
- อัยยาภริยา (ภรรยาเสมอนาย) ภรรยาชอบเป็นผู้นำ ข่มสามี ไม่ให้เกียรติ เอาแต่ใจ
- มาตาภริยา (ภรรยาเสมอแม่) แม้ในยามสามีลำบากหรือเจ็บป่วย ภรรยาก็ไม่เคยทอดทิ้ง
- ภคินีภริยา (ภรรยาเสมอน้องสาว) ภรรยาเหมือนเป็นผู้ตาม มีการพึ่งพาสามี หากเกิดการทะเลาะกันขึ้น สุดท้าย ก็จะจบลงด้วยการให้อภัย
- สขีภริยา (ภรรยาเสมอเพื่อน) โดยทั้งสามีและภรรยาต่างมีอะไรที่เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยยอมกันสักเท่าไหร่ และจะมีความคิดเป็นของตนเอง
- ทาสีภริยา (ภรรยาเสมอคนรับใช้) สามีจะเป็นใหญ่ สั่งให้ทำอะไร ภรรยาก็ต้องทำตาม เชื่อฟัง โดยไม่โต้ตอบใดๆ
14. การทำงานไม่ให้คั่งค้าง
ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ในการทำงานไม่ให้คั่งค้าง และสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ควรปฏิบัตตาม 4 ข้อนี้
- ฉันทะ คือ มีความพอใจในงานที่ทำ หากงานของคุณออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่คุณพยายามจนสุดความสามารถของคุณแล้ว คุณอย่าท้อ อย่าน้อยเนื้อต่ำใจว่าผลงานของคนอื่นดีกว่า พอใจในผลงานของคุณ และครั้งหน้าค่อยพัฒนา ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม
- วิริยะ คือ มีความตั้งใจ พากเพียรในงานที่ทำ ไม่ว่าจะทำงานใดๆก็ตามแต่ ควรตั้งใจทำทุกครั้ง เพราะถ้าหากคุณไม่ตั้งใจทำ การที่คุณจะมาเริ่มทำใหม่ให้ดีอีกครั้งนั้น อาจทำให้เสียเวลา
- จิตตะ คือ มีความเอาใจใส่ในงานที่ทำ การลงรายเอียดของงาน
- วิมังสา คือ การพิจารณาทบทวนงาน หากคุณทำงานเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบก่อนทุกครั้ง เพื่อความถูกต้อง หากพบข้อผิดจะได้แก้ไขได้ทัน
15. การให้ทาน
การให้ทาน คือ การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน ให้ด้วยใจ ให้เพราะอยากให้
- อามิสทาน คือ การให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน เช่น การมอบเสื้อผ้านักเรียนแก่เด็กบนดอย
- ธรรมทาน คือ ให้ธรรมะเป็นทาน เช่น การสอนเรื่องการทำความดี การสอนเรื่องทดแทนบุญคุณบิดาและมารดา
- อภัยทาน คือ การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับคุณ ไม่จองเวรซึ่งกันและกัน เช่น หากมีคนด่าว่าคุณ ทำกริยาไม่ดีใส่คุณ คุณก็ควรปล่อยผ่านไป อย่าไปกัดตอบ เพราะจะกลายเป็นบาปติดตัวคุณทุกชาติ
16. การประพฤติธรรม
การประพฤติธรรม คือ การปฏิบัติให้อยู่ในธรรมทั้งกาย วาจาและใจ เช่น การถือศีล 5 ข้อ การทำแต่ความดี เข้าวัดฟังธรรม เป็นต้น
17. การสงเคราะห์ญาติ
ญาติที่ควรให้การสงเคราะห์และดูแล เช่น ญาติยากจน หาที่พึ่งไม่ได้ ญาติเจ็บไข้ได้ป่วย ขาดที่ทำมาหากิน หรือไม่มีเงินในลงทุนค้าขาย
18. ทำงานที่ไม่มีโทษ
สำหรับมนุษย์ทั่วๆไป คุณสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานแบบสุจริตหรืองานผิดกฎหมาย ซึ่งตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนต้องการให้มนุษย์ทำแต่ความดีและทำสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งงานที่ไม่มีโทษสำหรับมนุษย์ทั่วๆไป คือ งานที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีลธรรม เช่น ไม่เล่นการพนัน ไม่ค้ายาเสพติด ไม่ค้าอาวุธ ไม่ค้าขายสัตว์ เพื่อนำไปฆ่า
19. ละเว้นจากบาป
ไม่มีใครอยากทำความชั่วหรอก เพราะอาจจะเป็นตราบาปติดตัวถึงชาติหน้า สิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรละเว้น คือ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกผิดเมีย ดื่มสุรา พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ เป็นต้น
20. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
น้ำเมาหรือที่เราเรียกว่า เหล้า เบียร์ ไวน์ เหตุที่ต้องมีหลักคำสอนนี้ขึ้นมาเพราะน้ำเมานั้น นำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่การทะเลาะวิวาท หรือถ้าดื่มเหล้าหนักจนเกินไป และยังขับรถกลับบ้านอีก ก็อาจเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ถ้าขาดสติ และถ้าดื่มเหล้าเป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจจะเกิดโรคตับแข็ง โรคหัวใจได้ ล้วนมีแต่ข้อเสียทั้งนั้น ดังนั้น พวกของมึนเมา ถ้าใครเลิกไม่ได้ ก็ค่อยๆลด จากที่ดื่มทุกวัน ปรับเปลี่ยนเป็นอาทิตย์ละ 2 วัน
21. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
การไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย คือ การไม่ประมาทในเรื่องของเวลา โรคภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณในอนาคต และอื่นๆ เป็นต้น
- เรื่องของเวลา คุณไม่ควรปล่อยเวลาไปแบบเปล่าประโยชน์ อยากจะทำอะไร ทำเลย อย่าเดี๋ยวก่อน!
- เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรประมาท เพราะถ้าหากคุณรู้ช้าเกินไป ก็อาจจะรักษาไม่ทัน ดังนั้น ควรหมั่นตรวจสุขภาพทุกๆปี
- เรื่องของชีวิต คุณควรวางแผนไปถึงอนาคตว่า อีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า คุณจะทำอะไร และในระหว่างนี้มีแพลนวางแผนไว้แบบไหน
- เรื่องของการงาน เมื่อได้รับงานตามที่หัวหน้าได้มอบหมายไว้ ควรที่จะทำงานนั้นให้เสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่าปล่อยงานค้างไว้จนกองโต แล้วค่อยลงมือทำทีเดียว
- เรื่องของการศึกษา พ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเงิน ส่วนใหญ่มักชอบให้ลูกออกมาทำงาน โดยใช้คำพูดที่ว่า “ไม่ต้องเรียนหรอก เรียนไปก็แย่งงานกันอยู่ดี สู้ออกมาทำงานตั้งแต่ตอนนี้ อย่างน้อยก็อาจจะได้เลื่อนขั้น” ซึ่งวิธีคิดนี้ เป็นความคิดที่ผิดมาก พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้เรียนหนังสือ อย่างน้อยได้มีวิชาติดตัว นำไปต่อยอดในอนาคต
22. มีความเคารพ
สิ่งที่คุณควรเคารพ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บิดาและมารดา ผู้เลี้ยงดู
23. มีความถ่อมตน
ลักษณะของผู้มีความถ่อมตน คือ มีความนอบน้อม วาจาสุภาพ อ่อนหวาน แสดงความสงบเสงี่ยม และไม่อวดรู้อวดดี
24. มีความสันโดษ
ความสันโดษตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การพอใจในสิ่งที่คุณมี อย่าไปทะเยอทะยานเกินตัว เช่น รูปลักษณ์หน้าตาภายนอกของคุณ ทั้งหน้าตา รูปร่าง ผิวพรรณ โดยรวมดูดีเลย แต่คุณกลับมองว่า ยังไม่สวยเท่าที่ควรเลย อยากหน้าตาเหมือนลิซ่า แบล็กพิงก์ เลยคิดที่จะไปทำศัลยกรรม ถ้าทำแล้วสวยขึ้นก็ถือว่าโชคดีไป แต่บางคนทำศัลยกรรมมา อ้าปากไม่ได้ด้วยซ้ำ จมูกเบี้ยวบ้าง ต้องแก้ใหม่ 3-4 รอบ เป็นต้น
25. มีความกตัญญู
ความกตัญญู ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เพียงแต่กตัญญูต่อบิดามารดาเท่านั้น แต่รวมถึงกตัญญูต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย เช่น สุนัข ที่คอยเฝ้าบ้านให้คุณ หรือกระบือ ที่คุณนำไปไถนา
26. การฟังธรรมตามกาล
ในการฟังธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นวันพระเสมอไป วันเกิด งานบวช งานแต่ง คุณก็สามารถเข้าฟังธรรมได้ หรือในขณะที่คุณขับรถ คุณอาจจะเปลี่ยนจากการฟังเพลง เป็นการฟังธรรมะบนรถ ก็สามารถช่วยให้คุณมีสติในการขับรถมากขึ้น
27. มีความอดทน
หากมนุษย์ทั้งหลายมีความอดทน เป้าหมายที่คุณตั้งไว้ก็คงอยู่ไม่ไกล แม้เจอปัญหาอุปสรรค คุณก็สามารถข้ามผ่านไปได้ ความอดทนเกิดได้ทั้งภายนอกและภายในจิตใจ เช่น การโดนว่า จนกระทบถึงจิตใจ การโลภอยากได้ของผู้อื่นไว้ครอบครอง
28. เป็นผู้ว่าง่าย
ลักษณะของผู้ว่าง่ายที่สังเกตได้ชัด คือ เชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคาราวะ ไม่ขัดแย้งต่อคำสอน ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา อดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน
29. การได้เห็นสมณะ
สมณะ แปลว่า ผู้สงบ ซึ่งคุณสมบัติของสมณะประกอบด้วย 3 อย่าง
- ต้องสงบกาย คือ ต้องมีความสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ และจิตต้องนิ่ง
- ต้องสงบวาจา คือ การใช้วาจาที่สุภาพ มีสาระ ไม่ใช้คำที่หยาบคาย
- ต้องสงบใจ คือ การลดกิเลสของคุณลง กิเลสล้วนเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง
30. การสนทนาธรรมตามกาล
ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม ได้แก่ การมีศีลธรรมอันดีงาม นั่นคือ การมีศีล 5และศีล 8 จิตใจตั้งมั่น ไม่วอกแวก มีกิริยาสุภาพทั้งกาย ใจ และวาจา
31. การบำเพ็ญตบะ
การบำเพ็ญตบะ หมายถึง การทำให้ความชั่วหรือกิเลสที่กำลังครอบงำคุณ ให้สลายหมดไป ซึ่งการปฏิบัติธรรม ก็สามารถทำให้คุณกำจัดกิเลสได้เช่นกัน
32. การประพฤติพรหมจรรย์
ลักษณะของการประพฤติพรหมจรรย์ เช่น การให้ทาน ไม่ว่าจะให้ทานเป็นเงิน สิ่งของ ล้วนแล้วแต่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ทั้งนั้น หรือการรักษาศีล 5 ศีล 8 การใช้ปัญญามากกว่าการใช้อารมณ์ เป็นต้น
33. การเห็นอริยสัจ
อริยสัจมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มนุษย์ล้วนต่างมีอริยสัจกันอยู่เกือบทุกคน คุณก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อคุณแก่ตัวลง สิ่งสุดท้ายของชีวิตนั้นคือ ความตาย ลูกหลานต่างเศร้าโศกา ซึ่งลักษณะนี้ เรียกว่า “ทุกข์” แม้เราจะหนีอย่างไร ก็หนีไม่พ้น หากคุณอยากได้โทรศัพท์ไอโฟน สัก 1 เครื่อง ราคาประมาณ 30,000 บาท เห็นคนอื่นมี ก็เลยอยากมีบ้าง ทะเยอทะยานโดยการไปกู้เงินขอยืมคนอื่นๆมา ลักษณะนี้ เรียกว่า “สมุทัย” เป็นความอยากที่ทำให้คุณเป็นทุกข์ ส่วนการปฎิบัติธรรม ก็ถือเป็นการดับทุกข์อย่างหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า “นิโรธ” และสุดท้าย มรรค หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เช่น การละจากการฆ่าสัตว์ ละกิเลสออกจากจิตใจ
34. การทำให้แจ้งในพระนิพพาน
นิพพาน คือ การขจัดกิเลสออกจากจิตใจของคุณเอง ซึ่งการจะเข้าถึงพระนิพพานได้นั้น ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด
35. มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
สิ่งที่คุณไม่ควรหวั่นไหว นั่นคือ การได้ลาภ คุณต้องคิดเสมอว่า เมื่อได้มา ก็ต้องหมดไป ไม่มีอะไรที่อยู่กับคุณได้นาน การได้ยศ เป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหา เพราะการมียศ ก็เท่ากับว่ามีอำนาจ แต่ใช่ว่าอำนาจ บารมีของคุณจะอยู่คงทนถาวร การได้รับการสรรเสริญ บนโลกใบนี้ ถ้ามองในความเป็นจริง ไม่มีใครรักคุณทุกคนและไม่มีใครเกียจคุณทุกคนเช่นกัน มีคนรักก็ต้องมีคนเกียจเป็นเรื่องธรรมดา
36. มีจิตไม่โศกเศร้า
พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์โศกเศร้านั่นคือ ความรัก ไม่ว่าจะความรักจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความรักที่กลายเป็นความผูกพันธ์ ความรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งสำหรับใครที่ไม่อยากเศร้าโศกเรื่องที่กล่าวมานั้น ควรเข้าใจโลกเสียก่อนว่า ไม่มีอะไรที่อยู่กับคุณไปตลอดชีวิต แม้กระทั่งร่างกายของคุณ มีพบก็ต้องมีจาก เมื่อคุณเข้าใจและยอมรับ คุณจะสามารถผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างแน่นอน
37. มีจิตปราศจากกิเลส
การปราศจากกิเลส ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เลิกได้ยากมาก เพราะเนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ล้วนมีสิ่งยั่วยุให้อยากซื้อ อยากสนองตัณหาตนเอง หากคุณกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้นั้น ชีวิตของคุณจะมีความสุขขึ้นเยอะเลยทีเดียว
38. มีจิตเกษม
จิตเกษม คือ จิตที่มีความสุข ปราศจากกิเลส ซึ่งผู้ที่มีจิตเกษมนั้น สิ่งแรกเลยคือ ละความยินดีในวัตถุ ประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ต่อมาคือการละความยินดีในภพ โดยเชื่อว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนและคงอยู่กับเราไปตลอดชีวิต และสุดท้าย การละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ ควรอยู่ในความถูกต้อง และเดินทางสายกลางตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า