ทำไมพนักงานที่เก่งมาก ๆ แต่กลับล้มเหลวเมื่อได้รับตำแหน่งหัวหน้า ทำไมพนักงานระดับปฏิบัติการเมื่อได้รับการสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าฝ่าย แล้วกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า และยังมีผู้บริหารระดับสูงอีกมากมายที่เมื่อคุณได้คุยแล้ว กลับรู้สึกสงสัยว่า เขามีความสามารถอะไร ทำไมเขามาได้ถึงระดับนี้
จะบอกว่างานไม่เหมาะกับคน ก็เป็นเรื่องที่ถูกเพียงครึ่งเดียวนะครับ แต่ความเป็นจริง เป็นเพราะ “คนไม่เหมาะกับงานมากกว่า” ในการทำงานระดับปฏิบัติงาน พนักงานทั่วไป มักใช้สิ่งที่เรียกว่า “ทักษะ” เป็นเครื่องมือหลักในการปฏิบัติงาน ใครที่ทำงานดี มีทักษะที่ดี ก็จะประสบความสำเร็จได้
แต่เมื่อก้าวหน้าไปมากขึ้น ความสามารถเรื่อง คน มนุษยสัมพันธ์ จะเป็นตัวกำหนดระดับความสำเร็จได้ และในระดับสูงกว่านั้น ความสามารถในการคิด คือ หัวใจสำคัญ ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีวิธีคิดที่เหมาะสมกับการบริหารงานที่ดี
หลักการปีเตอร์เป็นแนวคิดในการจัดการที่พัฒนาโดย Laurence J. Peter ซึ่งได้ทำการศึกษาและตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนในลำดับชั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับ “ความสามารถ” ของพวกเขา ไปจนถึงระดับที่ไร้ความสามารถ
เข้าใจง่าย ๆ คือ เราจะเติบโตในสายงานได้เรื่อย ๆ ตราบเท่าที่เรายังมีความสามารถที่เหมาะสม พอเราทำได้ดี ก็มีโอกาส ก้าวหน้าต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่น้อยคนนักที่จะทำได้ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง จุดที่เราไป เราไม่มีความสามารถที่เหมาะสม ถ้าเราไม่สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองต่อได้ เราก็จะหยุด ถดถอยลง
ปัญหานี้จะเกิดกับทุกคน บางคนโตแต่ตำแหน่งแต่ ความสามารถ ความรับผิดชอบ ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย การที่หลาย ๆ องค์กร บริหารงานโดยให้ ” ตำแหน่ง ” เป็นหนึ่งในผลประโยชน์ ทำให้องค์เต็มไปด้วยคนมีตำแหน่งมากมาย แต่ทำงานไม่เป็น แถมยังมีตำแหน่งมาทำให้เกิดอีโก้เพิ่มเข้าไปอีก
อันตรายของหลาย ๆ องค์กรใหญ่ ๆ ที่เต็มไปด้วยผู้บริหารระดับสูง ที่ไร้ความสามารถ ( ที่เหมาะกับงานในตำแหน่ง ) คนเหล่านี้ไม่ใช่คนไม่เก่ง แต่เพราะเขาเก่งในอีกรูปแบบ เก่งในทักษะงานของเขา ทำให้เขาได้รับการโปรโมทมา แต่ไม่สามารถทำงานในตำแหน่งใหม่ได้ดีพอ
องค์กรที่ดีจะพยายามพัฒนาผู้นำ ให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จะใส่ใจกับหลักสูตรการฝึกอบรม ให้คุณค่า ให้งบประมาณกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ ก็ใช่ว่าทุกคนจะเรียนรู้และปรับวิธีคิดได้
หลักการของปีเตอร์ ที่กล่าวไว้แบบสรุปสั้น ๆ ได้ว่า คนเราจะก้าวหน้าไปจนไร้ความสามารถ สามารถสรุปได้สั้น ๆ เป็น 3 ข้อดังนี้
กฎของปีเตอร์ ข้อที่ 1 : เมื่อทุกคนได้เลื่อนขั้นไปเรื่อย ๆ จะค่อย ๆ เข้าใกล้สู่ระดับ ไร้ความสามารถ
กฎของปีเตอร์ ข้อที่ 2 : เวลาผ่านไป แทบทุกตำแหน่งของบริษัทจะเต็มไปด้วยคนไร้ความสามารถ
กฎของปีเตอร์ ข้อที่ 3 : สุดท้ายแล้วบริษัท องค์กร จะถูกบริหารโดยคนไร้ความสามารถ
ฟังดูน่ากลัวนะครับ เมื่อเรามองไปในสังคมของเราไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน ราชการ การเมือง ล้วนมีคนในตำแหน่งใหญ่ ๆ โต ที่เราได้แต่สงสัยว่า พวกเขามีความสามารถในการทำงาน จริงหรือ คุณฮิเดโนริ ชิบาโมโตะ ได้กล่าวไว้ว่า คนที่จะก้าวไปทำงานในระดับบริหารงานนั้น ทักษะการคิด เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการคิดในเรื่องนามธรรม
เรื่องนามธรรมในการบริหารจัดการ เช่น กลยุทธ์ ภาพพจน์ การวางแผน การวิเคราะห์ จุดประสงค์ คำพวกนี้เป็นการคิดที่จับต้องไม่ได้ เป็นการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) ผู้บริหารที่เก่งจะคิดเรื่องพวกนี้ได้ แล้วเปลี่ยนออกมาเป็นถ้อยคำ เป็นคำพูด เป็นแผนงานได้ ทำให้คนอื่นเข้าใจ และนำไปปฏิบัติต่อได้
แต่ในเรื่องร้ายก็มีเรื่องตลกซ่อนอยู่นะครับ ในสังคมที่มีการปรับขึ้นตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้คนเก่ง ทำงานดีหลายๆ คน ต้องจมปรัก ทำงานเดิมอยู่นานหลายปี กลับกลายเป็นคนเหล่านี้ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ ทำให้องค์กรยังอยู่รอดต่อไปได้
แต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้บริหารที่เก่ง เจ้าของกิจการที่มีความสามารถ นอกจากจะต้องรู้จักเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงานแล้ว ต้องรู้จักสร้างคน พัฒนาคน และยังต้องมีวิธีทำให้ คนเก่ง รักที่จะทำงานในองค์กรได้อย่างมีความสุขด้วย
เจ้าสัวหลาย ๆ คนจึงได้ให้คำแนะนำไปในทางเดียวกันว่า ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด คือ พนักงาน นั่นเอง