ถ้าอยากเป็นนัก เล่าเรื่อง ที่เก่ง หัวใจสำคัญอันดับแรกสุด ต้องเริ่มจากคิดไอเดียในการ เล่าเรื่อง ให้ออกเสียก่อน เพราะพอรู้ว่าจะเล่าอะไรแล้ว ก็จะค่อย ๆ ได้โครงเรื่อง แล้วไปเรียบเรียงเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปได้จนจบ แต่โดยมากของคนส่วนใหญ่ที่อยาก เล่าเรื่อง เก่งนั้น มักมาตีบตันตรงปัญหาว่าไม่รู้จะเล่าอะไรดี
ดังนั้น ก้าวแรกของการก้าวไปสู่การเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งขึ้นได้ ก็คือต้องทลายกำแพงการคิดเรื่องเล่าไม่ออกให้ได้เสียก่อน โดยเทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้เราเริ่มมีไอเดียในการเล่าเรื่องได้นั้น มีแค่ 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1.ให้เรายกคำขึ้นมา 1 คำอะไรก็ได้ เพื่อเป็นโจทย์ในการเล่าเรื่อง
ยกตัวอย่าง วันนี้ออกไปทำงานเจอร้านขายไข่เจียว ก็ลองบังคับตัวเองเลยว่า ให้เอา “ไข่เจียว” มาเป็นโจทย์ในการเล่าเรื่อง
2.เมื่อได้โจทย์แล้ว ให้เราลองกำหนด “แนวของเรื่องเล่า”
อาจจะเป็นแนวตลก สยองขวัญ ให้กำลังใจ บู๊แอคชั่น ฯลฯ อะไรก็ได้ ลองบังคับกำหนดได้เลย
3.ลอง “จินตนาการ” ดูว่า “โจทย์ กับ “แนวของเรื่องเล่า” นั้น มันจะสร้างเป็นเรื่องเล่าได้อย่างไร
ลองคิดออกมาเป็นพล็อต หรือโครงเรื่องง่าย ๆ สั้น ๆ ไม่ต้องลงดีเทลทั้งหมดก็ได้ แต่ให้พอรู้ว่า เรื่องคืออะไร ยังไงกันแน่ ยกตัวอย่างเช่น โจทย์คือ “ไข่เจียว” ถ้าแนวของเรื่องเป็น “สยองขวัญ” พล็อตเรื่องอาจเป็น ชายคนหนึ่งกินไข่เจียวเจ้าประจำทุกวัน แต่แล้ววันหนึ่งเกิดตายแบบไม่รู้ตัว วิญญาณจึงตามอาฆาตแม่ค้าข้าวไข่เจียว เพื่อตามหาความจริงว่า ทำไมถึงวางยาฆ่าเขา ซึ่งสุดท้ายอาจหักมุมว่าเขาไม่ได้ตายเพราะใครวางยาก็ได้ แต่เพราะกินไข่เยอะไปมาหลายสิบปี เส้นเลือดเลยตีบตันช็อคตาย
หรือถ้าโจทย์เป็น “ไข่เจียว” คู่กับแนวเรื่องเป็น “สร้างแรงบันดาลใจ” ก็อาจได้พล็อตเรื่องว่า ชายคนหนึ่งทอดไข่เจียวไม่เป็น แต่ชอบกินข้าวไข่เจียวร้านหนึ่งมาก วันหนึ่งต่อคิวนานจนฟิวส์ขาด ด่าเจ้าของร้านว่าทำไมทำนานจัง แค่ทอดไข่ง่าย ๆ ทำไมช้านัก เจ้าของร้านจึงให้มาลองทำเอง ปรากฎทำไม่ได้ ทำไม่อร่อย เละเทะ จึงตกผลึกได้ว่า อย่าตัดสินว่าอะไรง่าย ถ้ายังไม่ได้เคยลองลงมือทำจริงเอง ความคิดนั้นใคร ๆ ก็คิดได้ แต่ทำในสิ่งที่คิดออกมาให้ได้ดีนั้นยากกว่ามาก ๆ
สิ่งสำคัญของการ “ฝึกคิดไอเดีย” ในการเล่าเรื่องนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องเป็นไอเดียที่เจ๋ง สดใหม่ ไม่มีใครเหมือน แต่สำคัญอยู่ที่ คิดออกมาแล้ว เราสร้างเรื่องราวเล่าต่อไปจนจบได้ไหม แล้วเรื่องเล่าของเรานั้น “ให้อะไรบางอย่าง” กับคนฟัง คนอ่านได้หรือเปล่าต่างหาก
เมื่อเราฝึกคิดโจทย์คู่แนวเรื่อง สร้างพล็อตแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ทุกวัน ๆ เห็นอะไรก็ลองฝึกจินตนาการดูว่ามันจะเล่าแบบไหนได้บ้าง สักพักเราก็จะเริ่มคิดได้เร็วขึ้น แล้วสร้างเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราได้เก่งขึ้น มี “ประเด็น” ที่อยากให้คนฟัง รู้สึกได้ดีขึ้นว่า อยากให้ประทับใจ ตื่นเต้น กลัว สนใจ สงสัย ฯลฯ จนในที่สุดการคิดเรื่องเล่าก็จะไม่ยากอย่างที่คิด
แน่นอนว่าในรายละเอียดของการจะฝึกตัวเองให้เป็น นักเล่าเรื่องที่เก่งนั้นมีมากกว่านี้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นก็ล้วนต้องผ่านด่านแรกของการฝึกคิดไอเดีย ฝึกสร้างเรื่องเล่าแบบนี้นับพันนับหมื่นเรื่องเล่าไปให้ได้ก่อน เพราะถ้าวันนี้เรายังไม่มุ่งมั่นพอที่จะลองคิดเล่าเรื่องอะไรเลย ให้ได้ต่อเนื่องสัก 10 วัน 20 วันล่ะก็ สุดท้ายแล้วเราก็จะขี้เกียจและไม่สามารถพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องของตัวเองได้อย่างที่ตั้งใจ