ถ้าเราไม่ใส่ “เป้าหมาย” ให้ตัวละครเอกในเรื่องเล่า คนฟังก็จะไม่มีแรงจูงใจว่า จะฟังไปเพื่ออะไร เพราะเมื่อมี “เป้าหมาย” แล้ว คนฟังจะเริ่มตั้งคำถามในใจว่า แล้วสุดท้ายจะทำสำเร็จไหม? ยกตัวอย่างเช่น “แดงอยากเป็นกราฟฟิคดีไซน์ ชื่อดังก้องโลก” ในขณะเดียวกันต่อให้มีเป้าหมายแล้ว แต่ถ้าตัวละครเก่งเกินไป หรือไม่มีอุปสรรคอะไรมาขวางเลย คนฟังก็ไม่มีเหตุให้ลุ้น ให้เชียร์
ดังนั้น ตัวละครจึงควรมีจุดอ่อน มีข้อบกพร่อง รวมถึงต้องมีปัญหา มีอุปสรรคขวางไว้ก่อนไม่ให้สำเร็จง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น แดงที่อยากเป็นกราฟฟิคดีไซน์มีปัญหาเรื่องการมองเห็น เขาตาบอดสี แยกแยะสีไม่ได้ แถมครอบครัวยังไม่อยากให้เขาเป็นศิลปินอีก ด้วยเพราะเชื่อว่าศิลปินไส้แห้ง
ซึ่งพอมีเป้าหมาย มีอุปสรรคแล้ว เรื่องราวที่ดำเนินไปจะทำให้คนฟัง เฝ้าติดตามดูว่าตัวละครจะก้าวผ่านอุปสรรคอย่างไร ก้าวไปถึงจุดหมายได้สำเร็จหรือไม่ ทำให้อยากติดตามไปถึงตอนจบของเรื่องที่เราเล่า เช่นจากตัวอย่าง คนฟังก็จะต้องลุ้นว่าคนตาบอดสีจะกลายมาเป็นกราฟฟิคดีไซน์ได้อย่างไร จะสร้างผลงานแบบไหนให้เป็นที่ยอมรับ และสำคัญคือ จะทำลายกำแพงคัดค้านของคนในครอบครัวได้อย่างไร
ทุกเรื่องเล่าบนโลกไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด นิยาย เรื่องสั้น ซีรี่ย์ ภาพยนตร์ สารคดี หรือจริง ๆ แม้แต่เรื่องเล่าของเราเองก็ล้วนประกอบด้วย เป้าหมาย อุปสรรค และผลลัพธ์ ทั้งสิ้น ดังนั้น หากวันนี้เราอยากลองสร้างเรื่องเล่าสักเรื่องหนึ่ง ให้เมื่อเล่าออกไปแล้วคนอยากติดตาม อยากฟังต่อจนจบ
สามารถทดลองเอาองค์ประกอบ 3 ส่วนนี้ไปใช้ดูได้ แล้วเราจะค้นพบว่าเมื่อวางโครงเรื่องด้วย 3 องค์ประกอบนี้ เราจะสามารถคิดไอเดีย สร้างเรื่องเล่า สร้าง Plot เรื่องได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น อันนำไปสู่การสร้างเรื่องราวได้ไหลลื่นอย่างน่าประหลาดใจ