ถ้าเรื่องที่เราเล่าออกไป ไม่ได้ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกใดเลย นั่นอาจถือว่าเราล้มเหลวในการเล่าเรื่อง เพราะต่อให้ เรื่องเล่า นั้นดี จัดวางองค์ประกอบดี เล่าดี เขียนดี แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าคนฟังไม่ได้รู้สึกอะไรจาก เรื่องเล่า นอกจาก “มีความเห็นว่าดี” เรื่องเล่า ของเราก็จะถูกลืมเลือนไป โดยไม่ได้สร้าง Action ใดต่อยอดในวงกว้างได้เลย
แต่หากเรื่องเล่าของเราที่ถึงแม้จะถูกมองว่าไม่ได้พิเศษ ไม่ได้ดูสมบูรณ์แบบเป็นมืออาชีพ แต่กลับทำให้คนฟังคนอ่านเกิด “ความรู้สึกอะไรบางอย่างได้” เรื่องเล่านั้นจะถูกนำไปต่อยอดอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ถูกลืมเลือนไปอย่างไร้ความหมาย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรื่องเล่าเราทำให้คนฟังคนอ่านเกิดแรงบันดาลใจ อยากทำตาม ถ้าเขาไม่แชร์ต่อ อย่างน้อยเขาก็จะไปทำตามที่เราเล่า ซึ่งถ้าทำตามเราแล้วเกิดผลลัพธ์ก็อาจกลับมารีวิว มาแนะนำบอกต่อ สร้างเรื่องต่อยอดจากเรื่องเล่าเราได้ หรือทำให้เขากลายมาเป็นคนที่เชื่อเราติดตามเราได้ในที่สุด
หรือถ้าเรื่องเล่าของเราทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกกลัว ก็อาจเกิดการบอกต่อให้คนอื่น ๆ เฝ้าระวังไว้ด้วยเหมือนกัน กลายเป็นไวรัลแชร์ต่อในวงกว้างแล้วย้อนกลับมาหาเรา ตัวผู้เล่าจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น หรือต่อให้เรื่องที่เราเล่าทำให้คนรู้สึก “เกลียดชัง” เรื่องเล่าของเราก็ยังมีพลังมากพอที่จะทำให้เราเป็นที่รู้จักถูกพูดถึง เป็นกระแสขึ้นมาได้ ซึ่งเราก็สามารถใช้ “ความเป็นที่รู้จักนั้น” อธิบาย หรือต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าอะไรบางอย่างได้ต่อไป
เชื่อว่าทุกคนคงรู้จัก อีลอน มัสก์ และก็เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เกลียดชังอีลอน มองว่าเขาเป็นคนบ้า แต่ทว่า อีลอน ก็ไม่ได้แคร์อะไรเลย ตรงกันข้ามที่เขากลับยังคง “สร้างเรื่องราว” เล่าเรื่องวิถีการทำงาน การทำธุรกิจ การสร้างอนาคตที่สุดโต่งตามสไตล์เขาต่อไป แบบไม่หยุดยั้ง เพราะถึงแม้จะมีคนเกลียดมากกว่ารัก แต่เขาก็ยังได้รับประโยชน์จากกระแสการถูกเกลียดชังนั้นอย่างมากมายมหาศาลอยู่ดี
นอกจากประโยชน์ในแง่ของการสร้างอิทธิพลต่อตัวคนเล่าแล้ว การกำหนดว่าอยากให้เรื่องที่เราเล่า ทำให้คนฟังคนอ่านรู้สึกอย่างไร ยังถือเป็นการทำให้เรา “โฟกัส” กับเรื่องราว รายละเอียด อารมณ์ ความรู้สึกของเรื่องเล่าที่จะสร้างได้มากขึ้นด้วย เช่น ถ้าอยากให้เรื่องเศร้า เราก็ต้องดูองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าได้จริง มาใส่ในเรื่องเล่าของเรา ถ้าอยากให้กลัว เราก็ต้องหาเหตุผล หาผลลัพธ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว มาวางเป็นรายละเอียดในเรื่อง ทำให้เรื่องเล่าของเรามีเป้าหมาย มีคุณภาพมากขึ้น ไม่สะเปะสะปะ
ถ้าวันนี้เราอยากเล่าเรื่องอะไรสักเรื่อง ลองถามตัวเองดูก่อนว่าอยากเล่าเรื่องนี้ ออกไปแล้วให้คนฟังรู้สึกอะไร ถ้าเริ่มต้นทุกครั้งของการสร้างเรื่องเล่าได้ตามแนวทางนี้ล่ะก็ รับรองเลยว่า เราจะสร้างเรื่องเล่าได้อย่างมีระบบมากขึ้น และมีแนวทางที่จะนำไปสู่การคิดเรื่องเล่าที่มีคุณภาพได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม