หากอยากเป็นคนที่เล่าเรื่องเก่ง เล่าอะไรก็มีคนสนใจ ตั้งใจฟัง สิ่งสำคัญที่นอกจาก เรื่องเล่า ที่ดีแล้วก็ต้องไม่ลืม 3 เรื่องพื้นฐาน ต่อไปนี้
1.ต้องเล่าในสิ่งที่คนอยากฟัง
ก่อนจะเล่าเรื่องอะไรเราต้องรู้ก่อนว่า “ใคร” คือคนฟังของเรา แล้วโฟกัสให้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาอยากฟังมากที่สุด เพราะต่อให้ เรื่องเล่า เราจะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้เล่าในสิ่งที่คนอยากฟังแล้วก็ยากที่จะมีใครหยุดฟังได้ ซึ่งหัวใจสำคัญข้อนี้เป็นหนึ่งในกฎการเล่าเรื่องที่ Pixar ยึดถือมาเสมอ และใช้กับแอนิเมชั่นทุกเรื่อง โดยพวกเขาจะทำแอนิเมชั่นด้วยการตั้งคำถามว่า “ผู้ชมต้องการอะไร” ไม่ใช่ “เราอยากเล่าอะไร”
2.เล่าในภาษาที่เข้าใจง่าย
ศัพท์ยาก ๆ คำพูดหรู ๆ สำนวนสวย ๆ อาจสะท้อนความอัจฉริยะเก่งกาจของผู้เล่าได้ก็จริง แต่หากคำเล่าเหล่านั้นไม่สามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ การเล่าเรื่องนั้นก็ถือว่าบกพร่องในแง่ของการสื่อสาร แล้วเมื่อคนฟังไม่เข้าใจก็ไม่มีทางทำให้ เรื่องเล่า นั้นจับใจคนได้
เหมือนทุกวันนี้ที่พระอาจารย์ดัง ๆ เอาคำสอนมาดัดแปลงเล่าใหม่ให้เข้าถึงง่ายขึ้น เหมือนคุณหมอบางคนที่ทิ้งศัพท์แพทย์ทั้งหมดแล้วพูดง่าย ๆ เล่าง่าย ๆ ให้คนฟังเข้าใจง่าย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวงการไหน เรื่องอะไรก็แล้วแต่ เมื่อเรารู้แล้วว่าคนฟังเป็นใครก็ต้องปรับภาษาในการเล่าเรื่องของเราให้สอดคล้องไปกับคนฟังด้วย โดยต้องคิดไว้เสมอว่าจะเล่ายังไงให้คนฟังเข้าใจได้ง่ายมากที่สุด
3.ฝึกซ้อมให้ดีก่อนจะเล่าจริง
การฝึกซ้อมช่วยทำให้เราสามารถใช้น้ำเสียงได้อย่างน่าสนใจมากขึ้น สามารถรู้จังหวะ กำหนดจังหวะหนักเบาในการเล่าเรื่องได้อย่างมีความน่าสนใจ และทำให้เราสามารถควบคุมเวลาในการเล่าได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถเล่นกันอารมณ์คนฟังได้ ควบคุมคนฟังได้อย่างอยู่หมัด
ตรงกันข้ามหากเราไม่ได้ฝึกซ้อม จังหวะในการเล่าจะไม่มีระเบียบควบคุมจังหวะหนักเบาไม่ได้ อาจเผลอออกนอกเรื่อง ลืมบท จนกินเวลา หมดเวลา และทำให้เรื่องราวที่ตั้งใจเล่านั้นถูกสื่อสารออกมาได้อย่างไม่กลมกล่อม และไม่สามารถจับใจผู้ฟังได้เท่าที่ควร
การเล่าเรื่องเก่งไม่เก่งนั้น เป็นเรื่องของทักษะการฝึกฝน เป็นเรื่องของการเข้าใจองค์ประกอบ และเทคนิคในการสร้างเรื่องเล่าที่มีพลังดึงดูดใจคนฟังได้ เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ปัญหา ทำการบ้านว่าคนฟังเป็นใคร และเขาอยากฟังเรื่องอะไร อะไรบ้างที่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตของพวกเขาได้ ดังนั้น จึงหมายความว่าเราทุกคนสามารถเป็นคนที่เล่าเรื่องเก่งได้ ถ้าเข้าใจและพยายามฝึกฝนเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องอย่างสม่ำเสมอมากพอ