ฟินแลนด์ อดีตประเทศที่เคยมีเด็กจบมัธยมปลายเพียง 10% และมีระบบครูที่ไร้คุณภาพ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก โปแลนด์อดีตประเทศคอมมิวนิสต์ที่ต้องเผชิญกับปัญหาเด็กด้อยโอกาส อาชญากรรมสูงลิ่วและระบบข้าราชการล้าหลัง แต่ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีเด็กโปแลนด์กับทำคะแนนสอบระดับสากลอย่าง pisa สูงติดอันดับโลก
เกาหลีใต้อดีตประเทศเผด็จการที่ยากจนจากพิษสงคราม และคนส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ แต่ปัจจุบันกลายเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจที่มีอัตราเด็กเรียนจบมัธยมปลายสูงที่สุดในโลก ประเทศเหล่านี้ทำได้อย่างไร ? ประเทศส่วนใหญ่ทำอะไรพลาดไป ? ระบบการศึกษาแบบไหน ที่ทำให้เด็กปัจจุบันอยู่รอดและประสบความสำเร็จ หนังสือเล่มนี้มีคำตอบให้
สรุปหนังสือ (ตอนที่ 1)
หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจะพาไปพบกับเรื่องราวของเด็กที่เรียนเก่ง โดยจะพาไปแอบส่องโลกของเด็กที่ว่ากันว่าเรียนเก่งที่สุดในโลก โดยโฟกัสไปที่ ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ และโปแลนด์ วิธีการศึกษาเก็บข้อมูลจะใช้การสัมภาษณ์เด็กชาวอเมริกันสามคน ที่ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในสามประเทศดังกล่าว ทำให้นอกจากความรู้แล้ว ยังอ่านเพลินมาก เหมือนได้ท่องเที่ยวไปด้วย มองโลกผ่านสายตาของเด็ก ๆ
Amanda Ripley ใช้ข้อมูลจากโครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) ของ OECD เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการศึกษาในระดับโลก ทำให้เธอสามารถสรุปได้ว่าการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีทรัพยากรทางการเงินมากน้อยเท่าไหร่ แต่มันขึ้นอยู่กับความสำคัญที่สังคมให้กับการศึกษา อ่านถึงตรงส่วนนี้ได้ไปหาข้อมูลและได้รู้ว่า เด็กไทยได้แค่ 0.2% ถ้าคุณรู้จัก PISA แล้ว คุณจะรู้ว่าน่ากลัวมากแค่ไหน
PISA ประเมินนักเรียนช่วงอายุ 15 ปีซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยเน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริง หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy)ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์(Scientific literacy) การประเมินนักเรียนจะประเมินทั้ง3 ด้าน ดังกล่าวไปพร้อมกัน
สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมิน PISA มาตั้งแต่ PISA2000 จากผลการประเมินพบว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมิน PISA 2000 จนถึง PISA 2018 ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง มีนักเรียนไทยเพียง 0.2% ที่มีความสามารถทางการอ่านในระดับสูง (ระดับ 5 และระดับ 6)
ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนในกลุ่มประมาณ 9% มีความสามารถด้าน การอ่านที่ระดับสูง นักเรียนสามารถทำความเข้าใจกับบทอ่านที่มีความยาวและจัดการกับแนวคิด ที่เป็นนามธรรมหรือขัดกับความรู้สึกได้สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น จากสิ่งชี้บอกโดยนัยที่อยู่ในบทอ่านได้
นอกจากนี้ ยังพบว่านักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ ต่างก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่านเช่นเดียวกัน การประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy)ของ PISA ต่างจากการประเมินการอ่านทั่วไปที่มักเข้าใจว่ามีบริบทเพียงการอ่านออกเขียนได้ แต่ PISA มีมุมมองเรื่องความฉลาดรู้ด้านการอ่านในแง่การแสดงความสามารถที่กว้างขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับสาระข้อมูลที่ได้อ่าน ผู้อ่านต้องสามารถค้นหาและรู้ตำแหน่งข้อมูลที่ต้องการผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ PISA สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน ซึ่งการดำ เนินการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเกิดจากการส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนควบคู่กันอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระดับนโยบายลงมา จนถึงระดับครอบครัวที่บ้าน ข้อสอบ PISA เผยให้เห็นประเด็นที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่มองไม่เห็นนั่นคือการทุ่มเทเงินทองไม่ได้ช่วยให้เด็กฉลาดขึ้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับสิ่งที่ครูผู้ปกครองและนักเรียนทำกับเงินที่ลงทุนไป
เชื้อชาติและรายได้ของครอบครัวมีส่วนสำคัญ แต่สำคัญมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ การมีผู้ปกครองร่ำรวยไม่ได้หมายความว่าเด็กจะได้คะแนนสูงเสมอไป และการมีผู้ปกครองยากจนก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะได้คะแนนต่ำเสมอไปเช่นกัน ผลคะแนนสอบที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเด็กฟินแลนด์ไม่ฉลาดมาตั้งแต่เกิด แต่เพิ่งฉลาดขึ้นมาได้ไม่นานนัก กลายเป็นว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ ภายในชั่วอายุคนรุ่นเดียว ฟินแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ ที่อยู่ดี ๆ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านการศึกษา
สรุปหนังสือ (ตอนที่ 2)
คนฟินแลนด์มองว่าทางเดียวที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังได้ ก็คือ การคัดเลือกครูที่เก่งที่สุดของแต่ละรุ่นมาฝึกฝนอย่างเข้มข้น แล้วที่สำคัญคือ พวกเขาทำอย่างที่คิดเช่นนั้นจริง ๆ นี่คือวิธีที่ทุกประเทศเห็นได้ชัดเจน แต่กลับมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ลองทำ
ในประเทศฟินแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารประเทศ ครู พ่อแม่ และเด็ก ๆ มีทัศนคติเหมือนกัน คือ เห็นคุณค่าของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เรื่องเรียนคือเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่ต้องเคร่งเครียดแบบที่เกาหลีใต้
เคยสงสัยไหม ว่าทำไมติวเตอร์ที่โรงเรียนกวดวิชา จึงสอนได้ดีกว่าคุณครูที่โรงเรียนปกติ เทคนิคการสอนก็เรื่องหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กที่ไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชานั้น เห็นคุณค่าของการเรียนมากกว่าปกติ เป็นกรณีเดียวกับที่เด็ก ๆ ในฟินแลนด์ ถูกปลูกฝังไว้แล้วว่า การเรียนคือเรื่องสำคัญ
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงปี 1970 คุณครูที่ฟินแลนด์ ก็เหมือนคุณครูทั่วโลกที่มุ่งเน้นพัฒนาเด็ก ๆ โดยมีนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง มีการทำบันทึกการสอน การสอบ มีกระบวนการต่าง ๆ มากมาย แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ดีนัก แต่จุดพลิกผันมาถึงเมื่อมีการปรับโครงสร้างของวิทยาลัยครู รัฐบาลได้ปิดวิทยาลัยครูไปจำนวนมาก ย้ายให้การเรียนเพื่อเป็นครู มาอยู่ร่วมในมหาวิทยาลัยชั้นนำเน้นคุณภาพมากขึ้น
คนที่จะเข้าเรียนในวิทยาลัยครูได้คือ กลุ่มคนที่เป็นหัวกะทิ พอถึงช่วงปี 1980-1990 มีบางสิ่งเกิดขึ้น เมื่อคุณครูรุ่นใหม่ออกมาสอน สิ่งนี้ได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงให้ฟินแลนด์พลิกโฉมประเทศโดยไม่มีใครสังเกตเห็นด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าในช่วงนั้นก็มีการคัดค้านบางส่วน ด้วยการมองว่า การเอาแต่คนเก่งมาเป็นครู พวกเขาจะเข้าใจเด็กที่เรียนอ่อนได้เหรอ มีการบอกด้วยซ้ำไปว่า คนเรียนไม่เก่งมาเป็นครู น่าจะเป็นครูที่ดีกว่า ผู้เขียนบอกว่า เป็นเหตุผลที่ประหลาดมาก ๆ แพทย์ที่เคยผ่าตัด รักษาผิดพลาดหลาย ๆ ครั้งจะเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดีได้จริงหรือ ?
เมื่อมีการคัดกรอง และสร้างครูที่มีคุณภาพ กฎธรรมชาติก็ทำงาน มีแต่คนอยากสมัครเข้าเรียนเพื่อจบไปเป็นครู กลายเป็นอาชีพที่ดึงดูดผู้คนเก่ง ๆ เข้ามา ยิ่งทำให้อาชีพครูมีเกียรติได้รับการยอมรับในระดับเดียวกับแพทย์เลย ถ้าคุณหมอเป็นผู้รักษาชีวิต เราก็สามารถเรียกคุณครูว่าเป็นผู้สร้างชีวิตได้เลย
จะเห็นว่า เมื่ออาชีพครูมีระดับสูงขนาดนี้ในสังคม เด็ก ๆ จึงให้ความเคารพคุณครูของพวกเขาเป็นพิเศษ พวกนักเรียนตระหนักดีว่า คุณครูต้องผ่านการเคี่ยวเข็ญทางวิชาการอย่างหนักกว่าจะจบออกมาสอนได้ นักเรียนรู้ดีว่า คุณครูของพวกเขาประสบความสำเร็จมากแค่ไหน จากบทเรียนในหนังสือ เราพอจะสรุปประเด็นสำคัญของการศึกษาในฟินแลนด์ได้ดังต่อไปนี้
- การจ้างครูที่มีคุณภาพสูง: การเป็นครูในฟินแลนด์มักจะถือเป็นอาชีพที่เกียรติคุณภาพ มีการคัดเลือกอย่างเข้มงวดและแข่งขันในการจ้างครูที่มีคุณสมบัติสูง
- การศึกษาที่เน้นความเป็นมนุษย์: การศึกษาในฟินแลนด์มักจะเน้นไปที่การพัฒนาความเป็นมนุษย์ของนักเรียน นอกจากนักเรียนจะได้รับการศึกษาทางวิชาการแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและทักษะทางสังคมด้วย
- การพัฒนาตนเองที่เป็นธรรมชาติ: ในฟินแลนด์ นักเรียนมีการยินยอมในการสำรวจและเรียนรู้ ซึ่งมักจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และนักเรียนสามารถแสดงผลการเรียนรู้ของตนเองได้ดี
- เวลาเรียนที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ: ในฟินแลนด์ นักเรียนมีเวลาในการเรียนรู้ที่น้อยกว่านักเรียนในประเทศอื่นๆ แต่แม้กระนั้น ฟินแลนด์ยังสามารถรักษามาตรฐานการศึกษาที่สูง
- การประเมินแบบอนุรักษ์: การประเมินในฟินแลนด์มักจะไม่ทำเพียงแค่วัดผลการเรียนของนักเรียน แต่ยังครอบคลุมการวัดความสามารถในการแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะอื่นๆที่จำเป็นสำหรับชีวิตในศตวรรษที่ 21
- เครื่องมือที่ช่วยในการเรียนรู้: นักเรียนในฟินแลนด์มักจะได้รับเครื่องมือและทรัพยากรที่ช่วยในการเรียนรู้ รวมถึงคอมพิวเตอร์ หนังสือ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
นอกจากเรื่องที่สรุปมาแล้ว มีอีกประเด็นหนึ่งคือ ที่ฟินแลนด์ จะปล่อยเด็ก ๆ ให้มีอิสระมาก ๆ ปฏิบัติต่อเด็ก ๆ เหมือนเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่จะเชื่อใจลูก ๆ มากกว่าที่อื่น ทุกประเทศมีเด็กเกเร แต่ที่ฟินแลนด์ แม้แต่เด็กเกเร ยังทำการบ้านส่งคุณครู และให้ความสำคัญกับการเรียน การสอบ จะเห็นได้ว่า ในงานวิจัยนี้ชี้ไปว่า การศึกษาที่ดี ไม่ได้ขึ้นกับเงินทุนเสมอไป แต่ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย มีนักวิชาการการศึกษาไปดูงาน ไปศึกษาหาแนวทางที่ฟินแลนด์มากแค่ไหนแล้ว แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของฟินแลนด์เกิดขึ้นภายในระยะเวลาแค่ 20-30 ปีเท่านั้น แต่คงยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย แต่พวกเราพ่อแม่ เริ่มต้นปลูกฝังทัศนคตินี้ได้ ที่ครอบครัวเราก็เน้นเรื่องการสอนลูกให้รักที่จะเรียนรู้ นอกจากการอ่านหนังสือ ก็ยังสอนให้เคารพคุณครู เคารพโรงเรียน ให้เห็นว่า โรงเรียนคือ สถานที่สำคัญ เมื่อเขาไปโรงเรียน เขาต้องตั้งใจให้เต็มที่ เพราะนั่นคือหน้าที่ และอนาคตของเขา
แม้เราสองคนพ่อแม่ จะเชื่อสุดใจว่า เรียนจบอะไรก็ไม่สำคัญ เรียนเก่งหรืออ่อน ก็ไม่สำคัญ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีอาชีพใหม่ ๆ เยอะแยะ ที่ไม่มีสอนในตำราเรียน แต่เราก็บอกลูกทุกวันตอนเช้าที่ไปโรงเรียนว่า …. ตั้งใจเรียนนะ
สรุปหนังสือ (ตอนที่ 3)
อดีตประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหาเด็กด้อยโอกาส อาชญากรรมสูงลิ่ว และระบบข้าราชการล้าหลัง แต่ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เด็กโปแลนด์กลับทำคะแนนสอบ PISA สูงติดอันดับโลก ในหนังสือ “The Smartest Kids in The World,” Amanda Ripley ได้เขียนถึงการศึกษาในโปแลนด์ ที่มีจุดเด่นดังนี้
การปรับปรุงการศึกษา
โปแลนด์เป็นประเทศที่ได้ทำการปรับปรุงการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมาอย่างมาก และเป็นกรณีศึกษาที่ถูกยกย่องในระดับโลก การเปลี่ยนแปลงหลักคือการเลื่อนการเรียนรู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้นไปยังชั้นปีที่ดีกว่า ทำให้นักเรียนมีเวลาที่มากขึ้นในการพัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐานก่อนที่จะเข้าสู่วิชาเฉพาะทาง
การศึกษาที่มีความท้าทาย
หลักสูตรในโปแลนด์ถูกออกแบบมาให้มีความท้าทายและรู้จักความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้นักเรียนเตรียมตัวสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
คุณภาพของครู
การจ้างครูในโปแลนด์มักจะเน้นไปที่คุณภาพ โดยจะมีการทดสอบและการฝึกสำหรับครูใหม่ที่เข้มงวด นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมต่อเนื่องสำหรับครูที่มีประสบการณ์ด้วย
การเรียนรู้ตามความสามารถ
โปแลนด์ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่ตรงตามความสามารถของนักเรียน ด้วยการจัดการเรียนการสอนในระดับที่ต่างกัน เพื่อรองรับความสามารถและความต้องการของนักเรียน
ในส่วนของโปแลนด์ หนังสือจะเดินเรื่องด้วย “คณิตศาสตร์” มีการชี้ให้เห็นความสำคัญของวิชานี้ ไม่ใช่แค่การบวกเลข แต่เป็นวิธีคิด การเข้าใจตรรกะที่มีเหตุ มีผลการเรียนวิชาอื่น ผู้ใหญ่มักบอกว่า ไม่เก่งก็สามารถฝึกฝนได้ แต่พอเป็นคณิตศาสตร์ มักมีการผ่อนผัน บอกว่าไม่ถนัดก็ไม่เป็นไร แนวคิดแบบนี้สร้างปัญหาเรื้อรังมาทั่วโลกเลย การเรียนคณิตศาสตร์มีความต่อเนื่อง เราไม่สามารถอยู่ดี ๆ ไปขยันเอาตอนเรียนระดับ ม.3 ได้ เพราะต้องมีความเข้าใจมาเป็นลำดับขั้นตอน ที่โปแลนด์ เด็ก ๆ ก็ไม่ได้เก่งคณิตศาสตร์
แต่จุดเด่นของระบบคือ ยอมให้เกิดความผิดพลาดขึ้น เรียนไม่ผ่าน ก็ทบทวนสอบซ่อมให้ผ่าน ต่างจากที่อเมริกาหรือประเทศไทย ที่การสอบตกคือเรื่องใหญ่ น่าอับอาย แต่ที่โปแลนด์เป็นเรื่องปกติ จะบอกว่า ระบบการศึกษาของโปแลนด์สร้างเด็กเก่ง เด็กฉลาด ด้วยการสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านปัญหาไปให้ได้ ความสำเร็จ เกิดจากการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่ยังไม่สูญเสียความกระตือรือร้นไป
ปี 1997 คือจุดเริ่มต้นของปริศนาการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อ มิโรสลาฟ ฮันด์เก้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เขาได้ทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อพัฒนาประเทศ เขาตัดสินใจว่า ต้องเริ่มต้นที่ … การศึกษา มีการปรับหลักสูตร ปรับเรื่องการสอบวัดผล ปรับมาตรฐานของโรงเรียน ลองเลื่อนเวลาการเลือกวิชาถนัดไปหนึ่งปี ให้เด็กมีเวลาคิดมากขึ้น
หลาย ๆ สิ่งเกิดผลลัพธ์ดี ๆ ตามมามากมาย แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีความเจ็บปวด แต่เมื่อผู้เขียนได้ไปถามคุณฮันด์เก้ว่า ถ้าเขาสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เขาจะเลือกทำอะไร ” ครู สิ ทุกอย่างย่อมอาศัยครูเป็นพื้นฐานทั้งนั้น เราต้องการครูที่ดีซึ่งถูกคัดเลือกและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี อย่างอื่นผมไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงหรอก ”
สรุปหนังสือ (ตอนที่ 4)
เกาหลีใต้ ดินแดนที่ใช้ คนเป็นทรัพยากรหลักของประเทศ การศึกษาในเกาหลีใต้มีหลายจุดเด่นที่ Amanda Ripley ได้สนใจในหนังสือ “The Smartest Kids in The World” ซึ่งมีดังนี้
การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ
เกาหลีใต้เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่าการศึกษาเป็นทางออกสู่การปรับปรุงความเป็นอยู่ในชีวิต
วันเรียนยาว
นักเรียนเกาหลีใต้มักจะศึกษาอย่างหนักหน่วง มีการเรียนรู้ตลอดวัน และบ่อยครั้งที่มีการเรียนหลังเลิกเรียนปกติซึ่งเรียกว่า “hagwons” ซึ่งเป็นสถานที่เรียนกวดวิชา
การเตรียมตัวสำหรับข้อสอบ
สำหรับนักเรียนเกาหลีใต้ การเตรียมตัวสำหรับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สำคัญมาก การศึกษาขั้นพื้นฐานของพวกเขานั้นถูกออกแบบมาเพื่อที่จะผ่านข้อสอบที่หนักแน่นและแข่งขันกันอย่างสูง
ส่วนราชการที่รักษามาตรฐาน
รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการศึกษาและมีการส่งเสริมมาตรฐานการศึกษาที่สูง เพื่อที่จะให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้ การศึกษาในเกาหลีใต้มีความท้าทายของตัวเอง ดังกล่าวเช่น ความกดดันทางสังคมที่มาก รวมถึงวันเรียนที่ยาวนานและมีความแข่งขันสูง ทั้งนี้ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียน เรื่องนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือของ Ripley และเป็นข้อท้าทายที่ควรจะจับต้องและได้รับการแก้ไข
แม้จะมีผลการสอบที่ดีระดับต้น ๆ ของโลกแต่ถ้าไปถามคนเกาหลี จะไม่มีใครที่บอกว่าระบบแบบนี้ดี หรือเห็นชอบกับความเข้มข้นในการสอบขนาดนี้ ประเทศเกาหลีตั้งใจพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนาคน ให้เป็นทรัพยากรที่มีค่า คุณค่าของแต่ละคนถูกวัดที่การศึกษา ครอบครัวเกาหลีคาดหวังให้ลูกเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนฐานะ ครอบครัว ด้วยผลการสอบ
การเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมชั้นนำ เป็นการการันตีว่าจะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลำดับต้น ๆ การันตีว่าคุณจะจบมามีงาน มีอาชีพที่รายได้ดี มีความมั่นคง การศึกษาในเกาหลีเสมือนหม้ออัดแรงดัน ที่ทำให้เด็ก ๆ แกร่ง แต่ก็แลกมาด้วยความกดดันมหาศาล วันสอบคือวันสำคัญ ที่ทุกคนจะทุ่มเทสุดชีวิต
พ่อแม่ฝั่งตะวันตก จะทำตัวเหมือนกองเชียร์ที่คอยให้กำลังใจ เข้าข้างลูกสุดใจ จนกลายเป็นเด็ก ๆ สบายเกินไป ส่วนพ่อแม่ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน จะทำตัวเหมือน …. โค้ช ที่ทุ่มเทฝึกฝน ให้คำแนะนำกับลูก เหมือนโค้ชสอนนักกีฬา
เชื่อว่าการศึกษาในระบบมีความสำคัญ แต่ที่บ้าน ก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย ดังนั้น อย่าผลักภาระให้กับคุณครู และโรงเรียนจนหมด อย่าเอาแต่เล่นมือถือ แล้วปล่อยให้ลูกอยู่กับจอเหมือนกัน