การมีธุรกิจเป็นของตนเอง อาจเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆคน และถ้าหากในอนาคตธุรกิจของคุณเกิดเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแล้วล่ะก็ การที่คุณจะทำธุรกิจเป็นแฟรนไชส์ หรือขยายสาขา ก็คงเป็นเรื่องที่คุณอดคิดไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน แต่การจะนำธุรกิจของคุณ มาทำเป็นแฟรนไชส์นั้น คุณจำเป็นต้องรู้รายละเอียดในหลายๆเรื่อง เช่น การจดทะเบียนการค้า คู่มือแฟรนไชส์ การเลือกแฟรนไชซี เป็นต้น ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลสำคัญไว้ดังนี้..
ก่อนอื่นเลย เพื่อไม่ให้คุณเกิดความสับสน เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของแฟรนไชส์กันเสียก่อน
แฟรนไชส์ (Franchise)
แฟรนไชส์ (Franchise) คือ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีการจัดการธุรกิจได้ดีในระดับหนึ่ง มีเครื่องหมายการค้า อีกทั้ง ผู้ประกอบการต้องการที่จะถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจให้กับบุคคลอื่นๆ
แฟรนไชซอร์ (Franchisor)
แฟรนไชซอร์ (Franchisor) หรือ เจ้าของสิทธิ โดยเจ้าของสิทธิจะเป็นผู้คิดค้นรูปแบบธุรกิจ ทำคู่มือแฟรนไชส์ สร้างรายได้ให้กับธุรกิจ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และเป็นผู้ขายสิทธิการดำเนินการค้าของตนเองให้แก่ผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น krispy Kreme เป็นผู้คิดค้นโดนัท คิดสูตรขนม จนวันหนึ่ง krispy Kreme มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับแก่ผู้คนจำนวนมาก บริษัทของ krispy Kreme จะอยู่ในฐานะเจ้าของสิทธิ และเป็นผู้ขายแฟรนไชส์ให้ผู้อื่น
แฟรนไชซี (Franchisee)
แฟรนไชซี (Franchisee) คืออะไร? เพื่อให้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น สมมุติ คุณต้องการซื้อแฟรนไชส์แมวพ่นไฟ ธุรกิจนี้จะขายเกี่ยวกับเครื่องดื่มเป็นหลัก คุณต้องการลงทุนอย่างมากเพราะคุณลองทานแล้วรู้สึกอร่อยและราคาเอื้อมถึง สำรวจบริเวณย่านนั้นแล้ว ยังไม่มีคู่แข่ง คุณจึงคิดว่า ธุรกิจนี้แหละ..ควรค่าแก่การนำมาสร้างรายได้ จากนั้น คุณก็ได้ติดต่อกับผู้ประกอบการ ตกลงที่จะซื้อแฟรนไชส์ พร้อมจ่ายค่าตอบแทนตามผลประกอบการ ในตอนนี้ คุณจะอยู่ในฐานะแฟรนไชซี หรือ ผู้ซื้อแฟรนไชส์นั่นเอง
แฟรนไชซิ่ง (Franchising)
การที่เจ้าของสิทธิ (Franchisor) ตกลงอนุญาตให้ผู้รับสิทธิ (Franchisee) ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ โดยผู้รับสิทธิจะต้องดำเนินธุรกิจตามรูปแบบและระบบธุรกิจ พร้อมจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิ
ขั้นตอน การเริ่มต้นเปิดแฟรนไชส์
1.ธุรกิจถ้าไม่โดนใจลูกค้า อยู่ยากแน่นอน
การจะทำธุรกิจใดๆก็ตาม ต้องนึกถึงลูกค้าเป็นหลัก อาจจะต้องใช้คำว่า ลูกค้าคือพระเจ้า เพราะลูกค้าคือ ผู้ที่ซื้อสินค้าของคุณ ทำให้คุณมีรายได้ ธุรกิจได้ไปต่อ หากสินค้าของคุณตอบโจทย์และแถมยังบริการดี รับรองได้เลยว่า ธุรกิจของคุณไม่มีวันเจ๊งอย่างแน่นอน และยังสามารถต่อยอด ขยายสาขาได้อีกด้วย
2.สร้างร้านต้นแบบ
การสร้างร้านต้นแบบ จะช่วยให้เห็นแนวทางการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของกำไร รายได้ รายจ่าย และปัญหาในการทำงาน อีกทั้ง ยังเป็นข้อดีสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะเปิดขายแฟรนไชส์ เพราะการที่คุณพบเจอข้อผิดพลาดก่อนการเปิดขายแฟรนไชส์นั้น ถ้าคุณรีบปิดช่องโหว่วหรือแก้ไขปัญหานั้นได้ไว จะทำให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ต่อนั้น เกิดความเชื่อมั่น ไม่ผิดหวังที่ได้ลงทุนกับคุณนั่นเอง
3.การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณ โดยขั้นตอนแรก คุณต้องไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพราะถ้าไม่มีเครื่องหมายการค้า คุณจะไม่สามารถขายแฟรนไชส์ได้
4.สร้างความเชื่อมั่นให้แก่แฟรนไชซี
สมมุติ คุณต้องการจะซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจชานมไข่มุก สิ่งแรกที่คุณจะดู คืออะไร? ใช่ยอดขายในแต่ละเดือนหรือเปล่า? ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเท่าไหร่? ถ้าลงทุนไปจะคุ้มทุนหรือไม่? แน่นอน หากคุณเป็นผู้ประกอบการ ลูกค้าที่ต้องการจะซื้อแฟรนไชส์ของคุณ ก็ต้องมองแบบเดียวกับที่คุณมองนั่นแหละ ไม่มีใครลงทุนไป แล้วอยากขาดทุน ดังนั้น สิ่งสำคัญเลย คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ชี้แจ้งรายละเอียดต่างๆอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องจุดคุ้มทุน ผลตอบแทน เมื่อคุณทำให้พวกเขาเห็นว่า แฟรนไชส์ของคุณสามารถสร้างรายได้และกำไรให้กับพวกเขาได้จริง ลูกค้าต้องตกลงร่วมธุรกิจซื้อแฟรนไชส์ของคุณอย่างแน่นอน
5.สร้างแบรนด์แฟรนไชส์ให้เป็นที่รู้จัก
หากคุณคิดจะทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ คุณจำเป็นต้องสำรวจทำเลแถวนั้นเสียก่อน ว่าส่วนใหญ่บริเวณนั้น เขาขายอะไร กลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร ที่ตรงนั้นเหมาะสมกับธุรกิจของคุณไหม หากธุรกิจของคุณกลายเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะรู้จักโดยการโปรโมทลงเพจเฟซบุ้ก เว็บหรือแบบปากต่อปาก ถ้าลูกค้าจำแบรนด์ของคุณได้ เมื่อขายให้กับแฟรนไชซีแล้ว ก็จะทำให้แฟรนไชซีขายสินค้าได้เหมือนกับที่คุณขาย ส่งผลให้ธุรกิจของคุณมีรายได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
6.คู่มือแฟรนไชส์
คู่มือแฟรนไชส์ที่ดี ต้องอ่านง่าย ไม่ซับซ้อน สร้างจากต้นแบบที่ดี มีการจัดแยกหมวดหมู่ของเรื่องได้ดี เพื่อง่ายต่อการการค้นหา และนำไปใช้ในการอบรมได้จริง
7.แนวทางการเลือกแฟรนไชส์ซี
การเลือกแฟรนไชซีหรือผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์กับคุณ ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกเช่นกัน เพราะเหมือนเป็นหน้าตาให้กับธุรกิจของคุณอีกด้วย สมมุติ คุณเปิดธุรกิจแมวพ่นไฟ ลูกค้าประทับใจในรสชาติเครื่องดื่ม แต่หลังๆมา การบริการแย่ ธุรกิจแฟรนไชส์ก็อาจจะไปไม่รอด ดังนั้น การจะเลือกแฟรนไชซี จึงจำเป็นต้องมีการอบรมทั้งระบบงาน การบริการต่างๆ และคุณอย่าลืมว่า คุณและแฟรนไชซี มีส่วนในการพัฒนาธุรกิจร่วมกันอีกนาน นอกจาก จะต้องดูแลลูกค้าที่อุดหนุนสินค้าของคุณแล้ว เมื่อคุณเป็นแฟรนไชซอร์ ก็ควรที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ แฟรนไชซีด้วย เพราะถ้าไม่มีเขา รายได้คุณก็หายไปอีกหนึ่งทาง