ที่มาของความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้ง (เทพแห่งทรัพย์สิน)
ความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้งของจีนมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามยุคตามถิ่น มีมากมายหลายองค์หลายประเภท ที่มาจึงซับซ้อน ไม่ชัดเจน หนังสือประชุมอรรถาธิบาย (集说诠真) อธิบายเรื่องไฉ่ซิ้งไว้สั้นๆ ว่า
“ไฉ่ซิ้งที่ผู้คนเซ่นไหว้นั้นบ้างก็ว่าเป็นอิสลามที่เซ่นไหว้กันทางภาคเหนือ บ้างก็ว่าเป็นคนจีนชื่อเจ้าหลัง บ้างก็ว่าเป็นคนสมัยราชวงศ์หยวนชื่อเหออู่ลู่ บ้างก็ว่าได้แก่ ลูกชาย 5 คนของกู้ซีเฝิงคนยุคราชวงศ์เฉิน แตกต่างกันไป ตามความเชื่อของตน เรียกรวมๆ ว่าไฉ่ซิ้ง ไม่แน่ชัดว่าคือใคร”
ในยุคราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2279-2454) และยุคสาธารณรัฐ (พ.ศ. 2454-2492) การเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินเป็นประเพณีนิยมประการหนึ่งของคนทั่วไปในสังคม มีบันทึกอยู่ในหนังสือบันทึกประเพณีทั่วจีน (中华全国风俗志) ของหูพ่ออันคนยุคปลายราชวงศ์ชิงถึงต้นสาธารณรัฐ เช่น แถบผิงเซียง มณฑลเจียงซี พวกพ่อค้าไหว้เจ้ากงหมิงเป็นพระโพธิสัตว์เรียกทรัพย์ ฟ่านหลีเป็นเทพแห่งทรัพย์สินของหลายมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้
พ่อค้าเมืองเซ่าซิงยกย่องฟ่านหลีเป็นปรมาจารย์แห่งการค้า จัดงานเซ่นไหว้ในวัน 11 ค่ำ เดือนห้า ทางภาคตะวันออกของมณฑลเหอหนัน ผู้คนเชื่อว่าภรรยาฟ่านหลีเป็นเทพธิดามีฤทธิ์มาก ช่วยให้เขาได้เงินทองมากมายไม่รู้สิ้น ชาวมณฑลซานตงยกย่องว่าฟ่านหลีสอนให้คนค้าขายและบอกกับผู้คนว่า “เงินทองนั้นมีหนึ่งแล้วเพิ่มเป็นสิบได้ จากสิบเพิ่มเป็นร้อย แล้วเพิ่มมากยิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด” นี่คือที่มาของการค้าขาย คนจีนแต้จิ๋วยกย่องว่าฟ่านหลีคือเทพแห่งทรัพย์สินและการค้า มีพิธีเซ่นไหว้ในวัน 24 ค่ำ เดือนหก
เมื่อฟ่านหลีปลอมตัวค้าขายจนมั่งคั่งนั้น ผู้คนเรียกว่าเถาจูกง ซึ่งเสียงจีนแต้จิ๋วว่า “เถ่าจูกง” เป็นที่มาของคำว่า “เถ่าเก-เถ้าแก่” มีบันทึกบอกเล่าเป็นคำสอนของเถ่าจูกงไว้ เป็นเคล็ดลับการค้ 16 ประการดังนี้
บัญญัติการค้า 16 ประการ
ของ “เถา จู กง” นักเศรษฐกิจชาวจีน
อันบัญญัติ สิบหกประการ ด้านพาณิชย์
ปราชญ์ในทาง เศรษฐกิจ ท่านประสงค์
ให้เป็นหลัก แสนวิเศษ เจตน์จำนง
“เถา จู กง” นามนั้น สนั่นดัง
หนึ่งจักทำ การค้า อุตส่าห์เถิด
วิริยะ จะประเสริฐ สมใจหวัง
แม้นเกียจคร้าน บอกตรงตรง ว่าคงพัง
จะต้องนั่ง ตรอมใจ ให้ลำเค็ญ
หนึ่งวางของ ที่จะขาย รายเรียงเรียบ
เป็นระเบียบ หายก็รู้ อยู่ก็เห็น
วางกระจาย หายไม่รู้ ดูยากเย็น
มักต้องเต้น ตรวจสอบ รอบร้านไป
หนึ่งรายจ่าย ทั้งผอง ต้องประหยัด
มัธยัสถ์ เงินงอก ออกไสว
ทำนักเลง เบ่งวุ่นวาย จ่ายเป็นไฟ
เงินจะไม่ ติดเก๊ะ เละเทะแฮ
หนึ่งลูกจ้าง บ่าวไพร่ เราใช้ชิด
จะสนิท หรือห่าง ต่างกระแส
ควรเที่ยงธรรม ต่อเขา เฝ้าดูแล
ใจแน่วแน่ เลื่องลือ นับถือเรา
หนึ่งนั้นหรือ คือสุภาพ ไม่หยาบหยาม
พยายาม ดับโมโห อย่าโง่เขลา
อารมณ์ร้าย ขายลำบาก ยากไม่เบา
คนไม่เข้า เหยียบร้าน อานจริงจริง
หนึ่งรับจ่าย รอบคอบ ประกอบไว้
เผลอไม่ได้ เป็นอันขาด อาจยุ่งขิง
ความมักง่าย ร้ายนัก มักประวิง
ความเจริญ หยุดนิ่ง ยิ่งวุ่นวาย
หนึ่งขยัน อยู่เสมอ เจอโอกาส
กระวีกระวาด ขมีขมัน ทันซื้อขาย
แม้นร่ำไร พลาดโอกาส ตลาดวาย
จะซื้อขาย ไวว่อง จ้องให้ดี
หนึ่งสินค้า ซื้อเข้า เราตระหนัก
ซื้อมากนัก ขายไม่หมด ลดราศี
ซื้อพอขาย มีของใหม่ ไร้ราคี
จึงควรที่ จดจำ เป็นตำรา
หนึ่งซื้อของ ต้องดู ให้รู้แจ้ง
ควรโต้แย้ง กันก่อน ตอนซื้อหา
ครบจำนวน ตรงประเภท ตามเจตนา
คลุมเครือพา โต้เถียงบ่อย พลอยเสียการ
หนึ่งการเปิด บัญชี มีกำหนด
ต้องวางกฎ จ่ายเมื่อไร ให้ไขขาน
ปล่อยให้เชื่อ ยืดเยื้อ เรื้อรังนาน
จะแน่นร้าน แต่คนเก เก๊เต็มทน
หนึ่งรู้ใจ ลูกค้า ที่มาเชื่อ
อย่าพร่ำเพรื่อ ตามใจ ไปทุกหน
เขาชักดาบ ฟันยับ เราอับจน
กำไรป่น ต้นทุนขาด อนาถนัก
หนึ่งการเงิน การทอง ต้องจะแจ้ง
ขืนเคลือบแคลง รั่วไหล ไม่ประจักษ์
เหมือนตักน้ำ เติมตุ่มรั่ว กลัวจะชัก
ท่านผู้รัก การค้า น่าคะนึง
หนึ่งบัญชี มีเท่าไร ให้หมั่นตรวจ
อย่างยิ่งยวด ตรวจให้รู้ ดูให้ถึง
แม้นเกียจคร้าน การหมุนเวียน หันเหียนตึง
เหมือนถูกดึง อยู่กับที่ ไม่ดีพอ
หนึ่งงานใด ในความ รับผิดชอบ
ควรรอบคอบ ประกอบกิจ ประสิทธิ์หนอ
ยามทำงาน คร่ำเครียด ละเอียดละออ
แม้นย่อท้อ แชเชือน เหมือนถูกน็อค
หนึ่งสินค้า เลวหรือดี นี้ต้องชัด
ของเลวตัด สินใจ ต้องขายออก
อย่าลังเล รับมุ รุสต๊อก
จึงไม่งอก ดอกเบี้ย เสียเชิงครู
หนึ่งดวงจิต อุเบกขา อย่าไหวง่าย
ความเสียหาย เกิดเพราะเรา ถูกเป่าหู
ทำการค้า หูเบา เศร้าน่าดู
หมดประตู จะจำเริญ เดินไส้กลวง
ที่มา : https://www.silpa-mag.com/culture/article_40683