เรื่องเล่า เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการทำ Content และการเล่าเรื่องราวต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดความสนใจผู้คนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกับธุรกิจใดก็แล้วแต่ หากเราสร้าง เรื่องเล่า ออกมานำเสนอได้อย่างน่าประทับแล้วล่ะก็ จะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ หลายๆ คนก็อาจจะนึกไม่ออกว่า แล้วเราจะเล่าเรื่องแบบไหนดีล่ะ มีตีม เรื่องเล่า แบบไหนบ้าง ที่ผู้คนชอบและสนใจ วันนี้เราเลยมีตีมเรื่องเล่ายอดฮิต ที่พบได้บ่อยๆ ทั้งจากหนัง ซีรีย์ ตลอดจนโฆษณาต่างๆ มาฝากกัน เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเรื่องเล่าของตัวเอง ให้น่าสนใจใครๆ ก็อยากฟัง ดังต่อไปนี้
1.เรื่องเล่า Love Story
ถือเป็นตีม เรื่องเล่า ที่เป็นอมตะ เพราะเราทุกคนต่างมีชีวิตผูกพันกับ “ความรัก” เสมอ ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวก็ได้ เป็น เรื่องเล่า ความรักระหว่างเพื่อน พี่น้อง ความรักในครอบครัว ความรักต่อสิ่งมีชีวิต หรือต่อสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็สามารถสร้างความประทับใจให้คนฟังได้เช่นกัน
2.เรื่องเล่าชวนขนหัวลุก
เรื่องของความลึกลับสยองขวัญ คือความน่ากลัวที่ผู้คนอยากรู้และอยากลองมากที่สุด การหยิบเอาตีมผี ตีมขนหัวลุก มาประยุกต์ใช้กับเรื่องเล่าของเรา ก็จะเป็นการดึงดูดให้ผู้คนสนใจ และอยากรู้ได้มาก ดังที่เราเห็นได้จาก รายการสยองขวัญต่างๆ ที่ได้รับความนิยม หรือโฆษณาดังๆ อย่างวลียอดฮิต “สงสัยหัวเทียนบอด” ก็เป็นเครื่องการันตีได้ดีว่า การหยิบเอาตีมขนหัวลุกมาเล่า มาผสานเข้ากับเรื่องเล่า จะทำให้เรื่องเล่ามีความน่าสนใจมากขึ้น
3.เรื่องเล่าการก้าวข้ามผ่านวัย Coming Of Age
ถือเป็นพล็อตภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเสมอ เพราะการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการก้าวข้ามผ่านวัย เติบโตจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ การต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ “ทุกคนสัมผัสได้” เชื่อมถึงได้ เพราะเราทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์การผ่านช่วงเวลาจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ดังนั้น การหยิบประเด็นบางอย่างระหว่างการเติบโตในช่วง Coming Of Age มาเล่า จึงมักได้รับกระแสตอบรับที่ดีเสมอ
4.เรื่องเล่าการทดสอบจิตใจของมนุษย์ต่อสู้เพื่อเป้าหมาย
เราทุกคนล้วนเคยถูกอุปสรรคขวางทางด้วยกันทั้งนั้น และล้วนมีความฝันที่อยากทำให้สำเร็จ แต่หลายครั้งในชีวิตจริง เราก็ไม่กล้าที่จะสู้ เราก็ยอมแพ้ไปก่อน ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ดังนั้น เรื่องเล่าที่ว่าด้วยเรื่องราวของการที่คนๆ หนึ่งต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบ ต้องต่อสู้กับอุปสรรค เพื่อทำเป้าหมายความฝันให้สำเร็จ จึงดึงดูดผู้คนได้ไม่ยาก เพราะผู้ชมจะ “แทนตัวเองเป็นตัวละครในเรื่องเล่า” แล้วเอาใจช่วย คอยลุ้น คอยดูว่า ตัวละครจะผ่านอุปสรรคไปได้อย่างไร ซึ่งเมื่อเรื่องเล่าคลี่คลายจบลง ผู้ชมก็จะเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองก็สามารถที่จะก้าวผ่านเรื่องราวเลวร้ายไปจนถึงเป้าหมายได้เหมือนกับเช่นตัวละครในเรื่องเล่าของเรา
5.เรื่องเล่าการกลับตัวกลับใจ
ถือเป็นอีกหนึ่งตีมเรื่องเล่าที่ปลุกพลังใจให้กับผู้คนได้เสมอ เพราะลึกๆ แล้วในใจเราทุกคน พร้อมให้อภัยคนที่เคยทำผิดพลาด และเอาใจช่วยให้กลับมาเป็นคนดี กลับมาเดินอยู่ในลู่ทางที่ถูกอีกครั้ง รวมถึงตีมเรื่องเล่าแบบนี้ยังแสดงให้เห็นถึง “โอกาส” ที่ยังมีอยู่เสมอด้วย ดังนั้น การหยิบเอาตีมการกลับตัวกลับใจ แล้วประสบความสำเร็จ มาเป็นเรื่องเล่า ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม
6.เรื่องเล่าตลกขำขัน
ความเบาสมอง ถือเป็นเรื่องเล่าที่เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน และใช้ได้ดีเสมอ โดยยิ่งเราเรียกเสียงหัวเราะจากผู้คนได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างความประทับใจได้มากเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ความยากของเรื่องเล่าตลกขบขัน คือการวางเรื่องให้ตลกจริง และที่สำคัญคือต้องไม่ใช่ตลกแบบเหยียดผู้คน ไม่ใช่ตลกหยาบคายเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว แม้อาจจะมีบางกลุ่มคนที่ชอบเรื่องเล่าตลกของเรา แต่สุดท้ายก็อาจมีปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมาภายหลังได้
7.เรื่องเล่าสะท้อนปัญหาสังคม
นี่คือ “คลังพล็อตเรื่องเล่า” ที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ สำหรับการหยิบยกเอาปัญหาสังคม ความดราม่าที่เราพบเห็น โต้เถียงกันอยู่ทุกวัน มาดัดแปลง และเล่าต่อ เพื่อนำเสนอ “สารบางอย่าง” ตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง ประเด็นเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว อำนาจ ความไม่เท่าเทียม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทุกกลุ่มเรื่องราว ล้วนมีประเด็นดีๆ ที่เราหยิบยกขึ้นมาสร้างเป็นเรื่องเล่า เพื่อเชื่อมโยงกับสินค้า บริการ หรือสารที่เราต้องการจะสื่อได้ และมักจะได้รับผลตอบรับที่ดีเสมอ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะแบ่งเป็นสองฝั่งได้อย่างง่ายได้ คือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้น ในการร้อยเรียงเรื่องเล่าและคัดประเด็นที่จะนำเสนอ จึงต้องทำอย่างรอบคอบ รัดกุม และวางแผนรับมือกับผลตอบรับทุกมุมที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย
8.เรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งตีมการเล่าเรื่องที่มีประเด็นให้หยิบยกขึ้นมาพูดถึงได้มาก ดัดแปลงได้มาก และมีความน่าสนใจอยู่ในตัวเอง เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว มีมูล ทั้งนี้ เราสามารถนำเอาบางส่วนจากประวัติศาสตร์มา แล้วตีความบางอย่างเพิ่มเติม ต่อขยายลงไปก็ได้ ก็จะทำให้เรื่องเล่าของเรามีทั้งความสมจริง และความแปลกใหม่ได้มากขึ้น
9.เรื่องเล่าชีวประวัติ
โดยมากที่เป็นอมตะที่สุดก็คือ เรื่องเล่าชีวิตของบุคคลสำคัญ คนที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เราเห็นๆ กัน อาทิ ชีวิตสตีฟ จ็อบส์ ชีวิตแจ็คหม่า เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ในมุมของการเล่าชีวประวัติ เราอาจเล่าประวัติของใครก็ได้ เพียงแต่เรื่องเล่าของคนๆ นั้นมีความน่าสนใจ มีคติสอนใจ มีเรื่องเล่าน่าเป็นกรณีศึกษา ก็สามารถนำมาเล่าได้ทั้งหมด หรือในแง่ของ “สินค้า” การเล่าถึงที่มาที่ไป กำเนิดของสินค้านั้นๆ ประมาณกว่าจะมาเป็นหลอดไฟ กว่าจะมาเป็นไอโฟน กว่าจะมาเป็น Post it นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร ก็ถือเป็นกลุ่มเรื่องเล่าที่ยังคงได้รับความสนใจเสมอ เพราะทุกคนล้วนอยากทราบว่า สิ่งของต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่เขาคุ้นเคยนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร
10.เรื่องเล่าวิทยาศาสตร์
เดิมทีแล้ว คนเราไม่ได้ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ แต่เพราะวิทยาศาสตร์มีความซับซ้อนเข้าใจยากเกินไป จึงทำให้หลายๆ คนส่ายหน้า แต่ถ้าหากเรานำเรื่องราววิทยาศาสตร์น่ารู้ มาเล่าให้เข้าใจง่าย มาเล่าในมุมมองใหม่ๆ ก็จะดึงดูดความสนใจผู้คนได้เสมอ เพราะวิทยาศาสตร์คือขุมทรัพย์ของความลับต่างๆ ของทุกสิ่งบนโลก และพื้นฐานของคนเรานั้นล้วนมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัว เรื่องเล่าวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้คนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้มากขึ้น จึงได้รับความสนใจเสมอ
11.เรื่องเล่าเหนือจริง
หรือที่คุ้นเคยกันกับคำว่าแฟนตาซี นิทานปรัมปรา เทพ อสูร มังกร สัตว์ในตำนาน พ่อมด เวทมนตร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็เป็นความแปลกใหม่ ที่เราสามารถ หยิบมาเป็นองค์ประกอบของเรื่องเล่าให้มีความน่าสนใจได้
12.เรื่องเล่าผ่านบทเพลง
ถือเป็นรูปแบบการเล่าเรื่องประเภทหนึ่ง โดยมีเนื้อเพลงเป็นตัวสื่อความหมาย แต่โดดเด่นด้วยการมีท่วงทำนอง มีคำคล้องที่ทำให้แตะหู จำง่าย และมีส่วนร่วมได้ง่ายที่สุด คือร้องตามได้ ดังนั้น หากเรารู้สึกว่าไม่รู้จะเล่าตีมไหนดี ก็เพียงแค่เอา “เรื่องที่จะเล่ามาดัดแปลงให้เป็นเพลง” ก็จะทำให้เราได้รูปแบบการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ และแปลกใหม่ เข้าถึงผู้คนได้ง่ายและทุกเพศทุกวัย
ในความเป็นจริงแล้ว ยังมี “ตีม” หรือ “พล็อต” เรื่องเล่าอีกมากมาย ที่เราสามารถหยิบมาประยุกต์ใช้กับการเล่าเรื่องของเราได้ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และความหลากหลาย ทั้งนี้ แนวทางในการสร้างเรื่องเล่าจากตีมยอดฮิตดังกล่าว ก็ทำได้ง่าย เช่น ถ้าเรา เป็นบริษัทขายไข่ไก่ ก็แค่ลอง ลองคิดดูว่า จะเล่าเรื่องราวของไข่ไก่ ในตีมเรื่องเล่าต่างๆ ได้อย่างไร อาทิ
- ไข่ไก่ กับ Love Story เป็นเรื่องราวความรักของคุณพ่อที่ทำกับข้าวไม่เป็น แต่ต้องเลี้ยงลูกที่สูญเสียแม่ไปตั้งแต่ยังเล็ก
- ไข่ไก่ กับ วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเล่าของไข่แต่ละเมนู ว่ามีประโยชน์อย่างไร และเราควรกินไข่วันละกี่ฟองกันแน่
- ไข่ไก่ กับ ประวัติศาสตร์ รู้หรือไม่ว่า มนุษย์เรากินไข่ไก่มาตั้งแต่เมื่อไร และเมนูไข่แต่โบราณมีน่าตาวิธีทำอย่างไร? เพียงแค่เราค่อยๆ ลองเชื่อมโยง “สิ่งที่เราจะเล่า” เข้ากับ “ตีมต่างๆ” ค่อยๆ คิด ค่อยหามุมมอง หาข้อมูลดูว่า จะเล่าอย่างไรได้บ้าง เราก็จะสามารถได้พล็อตเรื่องเล่าที่แปลกใหม่ น่าสนใจ เอาไว้ใช้สื่อสารตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการได้แล้ว และทำให้เราสามารถเล่าเรื่องๆ หนึ่ง ได้แบบหลากหลายมุมมองด้วย เพียงแค่เปลี่ยนตีม พล็อตเรื่องที่จะเล่าไป นั้นเอง