ในปัจจุบันจะมีสักกี่คนกันครับ ที่ตั้งเป้าหมายทำธุรกิจ ทำบริษัท โดยคาดหวังให้มีอายุเกิน 100 ปี อย่าว่าแต่ 100 ปีเลย แค่ 10 ปี เราก็ไม่ค่อยได้วางแผนกันยาวขนาดนั้นแล้ว เพราะนี่คือยุคทองของคำว่า Start Up อายุของบริษัท Start Up นั้นสั้นมากๆ จะมีเพียงส่วนน้อยที่หลุดออกไปเติบโตได้ แต่ถ้าเราเข้าใจและคาดหวังอยากสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนจริงๆแล้ว หลักการบริหารงานสไตล์คนญี่ปุ่น คือแนวทางที่ควรศึกษาครับ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบริษัทอายุเกิน 100 ปี มากที่สุดในโลก โดยการสำรวจของนิตยสารนิคเคอิ บีพี ได้ทำการสำรวจบริษัทที่มีอายุเกิน 200 ปี
- อันดับหนึ่ง ญี่ปุ่นมีถึง 3,113 บริษัท
- อันดับสอง เยอรมันนี 1,563 บริษัท
- อันดับสาม ฝรั่งเศส 331 บริษัท
ถ้าคุณสนใจแนวคิดนี้ ริเน็น คือเรื่องที่คุณต้องศึกษา หนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น คือเรื่องราวที่จะพาคุณไปสู่โลกการค้าของชาวญี่ปุ่น ย้อนอดีตไปถึงราก แก่นแท้ แนวคิดการทำธุรกิจ ของบริษัท ห้างร้าน แต่เป็นห้างร้านขนาดย่อม ที่เราไม่ค่อยได้อ่าน หรือได้ยินเรื่องราวของพวกเขามากนัก หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เจ้าของนามปากกา เกตุวดี Marumura
ถ้าคุณชอบอ่านหนังสือ เพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องราว ที่ชีวิตจริงเราอาจไม่มีโอกาสได้ไปพบจริง หนังสือเล่มนี้ ถ่ายทอดเรื่องราว เรื่องเล่าที่น่าติตตาม และทำให้เรารู้สึกและสัมผัสได้ ถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ของเหล่าผู้ประกอบการที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่าให้ฟัง และถ้าคุณต้องการหนังสือที่สรุปอะไรสั้นๆ ได้วิธีการเป็นข้อๆ ท้ายบทของหนังสือแต่ละบท จะสรุปเป็นหัวข้อสำคัญไว้ให้ แม้จะดูน้อยๆ แต่ด้วยความน้อยนี่แหล่ะครับ หลักการเพียงไม่กี่ข้อ แต่ก็เป็นหลักการที่พิสูจน์แล้วว่า ใช้ได้จริง ทำให้บริษัทเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง
เลือกหัวข้ออ่าน
บทสรุปของ ริเน็น
ริเน็น มาจากคำว่า ริ ที่แปลว่า เหตุผล ผสมกับคำว่า เน็น ที่มีความหมายดั้งเดิมว่า สติ ริเน็น จึงมีความหมายว่า เหตุผลที่เกิดจากสติ ซึ่งก็คือ ปัญญาหรือปรัชญานั่นเอง หนังสือเล่มนี้ คือ ปรัชญาการบริหารงานแบบญี่ปุ่น ริเน็นมีความหมายกว้างกว่า พันธกิจ หรือวิสัยทัศน์ขององค์กร ริเน็นมักจะกล่าวถึงประโยชน์ที่บริษัทต้องการส่งมอบให้ลูกค้า และสังคม เป็นจิตวิญญาณที่หล่อหลอมบริษัทให้อยู่รอดต่อไปได้ จาก รุ่น สู่ รุ่น
ผู้เขียนแบ่งบริษัทเป็น 2 ประเภท
- บริษัทต้นไผ่ คือ บริษัทที่เน้นยอดขาย มุ่งหากำไร เป็นหลัก อายุของบริษัทจะเหมือนต้นไผ่ที่โตไว แต่ก็ตายเร็ว เราพบเห็นบริษัทแบบนี้ได้ทั่วไป
- บริษัทต้นสน คือ บริษัทที่ค่อยๆ เติบโต แต่ยืนหยัดอย่างมั่นคง ซึ่งไม่ใช่ ทนอยู่ยาว แต่เป็นการมุ่งมั่นพัฒนาให้ดีเลิศในแนวทางของตนเองเสมอ ตัวอย่างลักษณะของบริษัทต้นสนที่เราจะมองเห็นได้คือ
– ผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ
– ลูกค้าชื่นชมพูดถึงบริษัทในแง่ดี
– พนักงานไม่ลาออก/ย้ายงาน
– หาพนักงานใหม่ง่าย
รากต้นสน
บริษัทร้อยปี ต้องมีริเน็น ที่เปรียบเสมือน รากของต้นสน สามคำถามสำคัญที่นำไปสู่การสร้างริเน็น ที่เราสามารถนำมาถามตัวเราได้เช่นกัน
- เราเห็นลูกค้ามีความสุขเมื่อไหร่ เพราะเหตุใด คำถามนี้จะนำไปสู่การค้นหาพันธกิจและคุณค่าขององค์กร
- เราเชื่อมั่นในอะไร คำถามนี้นำไปสู่วิสัยทัศน์และการวางทิศทางให้กับองค์กร
- อะไรคือสิ่งที่เราพร่ำสอนหรือต้องการจะบอกพนักงาน คำถามนี้นำไปสู่ความเชื่อพื้นฐานและแนวทางปฏิบัติขององค์กร
กิ่งต้นสน
เมื่อเปรียบธุรกิจเป็นเสมือนต้นไม้ ก็ต้องมีราก และกิ่ง กิ่งไม้ที่สำคัญ 4 กิ่งของหลักคิดการบริหารคือ
กิ่งพนักงาน
บริษัทต้นไผ่มองพนักงานเป็นต้นทุน หากผลประกอบการทางธุรกิจไม่ดี ก็ไล่พนักงานออกเพื่อลดต้นทุน แต่บริษัทต้นสนสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับพนักงาน พนักงานคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของบริษัท พนักงานเปรียบเสมือนครอบครัว ทำให้ไม่คิดที่จะทอดทิ้งกันแม้ในยามธุรกิจมีปัญหา
กิ่งคู่ค้า
คู่ค้าของบริษัทต้นสน ต้องยินดีที่จะทำธุรกิจร่วมกัน และได้ผลประโยชน์ร่วมกัน จะไม่ยอมเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท โดยทำให้คู่ค้าต้องลำบากใจ หรือเสียหายขาดทุนได้ ทำให้ความสัมพันธ์จะเป็นไปแบบระยะยาว ช่วยเหลือกันและกัน
กิ่งลูกค้า
บริษัทต้นสน มุ่งสร้างความไว้วางใจ มากกว่าการสร้างยอดขายและผลกำไร กำไรของบริษัทต้นสนอาจเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องของ เงิน เรื่องของตัวเลข การได้ช่วยเหลือ ได้ผลิตสินค้าที่เปลี่ยนชีวิตลูกค้าได้ การให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
กิ่งสังคม
บริษัทต้นสน พร้อมที่จะจ่ายภาษี และจัดให้มีกิจกรรมเพื่อสังคม และยังคิดสินค้า บริการ โดยใส่ใจกับสังคม ชุมชน ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ หลายๆ บริษัทยอมรับต้นทุนที่แพงขึ้น แต่จะไม่ทำอะไรที่ทำร้าย ทำลายสังคม สิ่งแวดล้อม
เราจะเห็นว่าในหลักการบริหารสไตล์ต้นสนนั้น จะให้ความสำคัญเรียงลำดับ คือ ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นลำดับแรก เพราะพนักงานคือ ทุกสิ่งขององค์กร จากนั้นจึงเรียงลำดับไปยัง คู่ค้า ลูกค้า และสังคม ซึ่งสลับกับธุรกิจแบบต้นไผ่ ที่ให้ความสำคัญกับยอดขายและกำไร จึงใช้ลูกค้าเป็นจุดเริ่มต้น จริงอยู่ครับว่า ลูกค้า คือคนสำคัญ ลูกค้าคือคนที่จ่ายเงิน ทำให้ธุรกิจเราเดินหน้าไปได้ แต่การจะไปอย่างยั่งยืนนั้น ต้องบริหารความพอใจให้กับทุกๆ ฝ่าย ให้กับกิ่งไม้ทั้ง สี่ ให้ได้รับประโยชน์ และมีความสุขไปด้วยกัน
หัวใจสำคัญของการบริหารอาจกล่าวง่ายๆ สั้นๆ ว่า การทำธุรกิจคือ การสร้างคุณค่า ส่งต่อคุณค่าบางอย่างให้ใครบางคน และทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมีความสุข นั่นเองครับ
วันนี้เราอาจเริ่มต้นด้วยหลักการทำธุรกิจ อย่างเช่น Start With Why และหลายๆ Why ของพวกเรามักเริ่มจากว่า ตัวเราชอบอะไรกันแน่ ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับ เพียงแค่เราต้องถามต่อไปอีกนิดว่า สิ่งที่เราชอบมันจะไปสร้างคุณค่าอะไรให้ใคร อย่างไร และระหว่างดำเนินกิจการ ก็อย่าลืมหยิบหลักคิด การบริหารงานจากหนังสือเล่มนี้ไปใช้ ไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่าจะอยู่ไปร้อยปี แค่ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมก็อาจจะเพียงพอแล้วครับ
ถ้าสนใจแนวทางเรื่องเล่าตำนานของสินค้าดัง เรามีรวบรวมบทความแบบ audio book ไว้ เป็นเรื่องราว 28 ตำนานสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก ติดตามอ่านได้จากลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ https://wp.me/p6tpYy-H5