สิทธิการรักษาพยาบาลในประเทศไทยมี 3 ระบบใหญ่ คือ 1) สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ 2) สิทธิประกันสังคม และ 3) สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท หรือบัตรทอง โดยผู้มีสิทธิได้รับบัตรทอง คือ ประชาชนสัญชาติไทยทุกคน ที่ยังไม่มีสิทธิใด ๆ จากหลักประกันอื่นที่รัฐจัดให้ยกเว้น
- ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป ยกเว้นลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
- ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ค่าราชการ ลูกจ้างประจำของส่วนราชการและครอบครัว
- ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ
สิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
1. สิทธิประโยชน์ของบัตรทอง บริการทางการแพทย์ที่คุ้มครอง
1.1 การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการควบคุมโรค
- การตรวจและดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์
- การดูแลสุขภาพเด็ก พัฒนาการและภาวะโภชนาการ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันโรค ตามแผนงานการให้ภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ
- การตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง
- การวางแผนครอบครัว (ยาคุมกำเนิน ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิดและการทำหมันถาวร)
- ยาต้านไวรัส เอดส์ กรณีป้องกันการแพร่เชื้อจากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูก
- การเยี่ยมบ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
- การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการในระดับบุคคลและครอบครัว
- การให้คำปรึกษา (Counseling) และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ
- การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก การแนะนำด้านทันตสุขภาพ การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอรวมทั้งการเคลือบหลุมร่องฟัน
1.2 บริการด้านการตรวจวินิจฉัย
- การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูสมรถภาพทางการแพทย์ จนสิ้นสุดการรักษา ทั้งนี้ รวมถึงการแพทย์ทางเลือกที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีบุตรคลอดแล้วรอดออกมามีชีวิต) โดยนับตั้งแต่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
- ค่าอาหาร และค่าห้องสามัญ
- การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูน การทำฟันปลอมฐานพลาสติก การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม และการใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
- ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ
- การจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ
2. สิทธิประโยชน์ของบัตรทอง บริการทางแพทย์ที่ไม่คุ้มครอง
2.1 กลุ่มบริการที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน
- การรักษามีบุตรยาก
- การผสมเทียม
- การเปลี่ยนเพศ
- การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การตรวจวินิจฉัย และรักษาใด ๆ ที่เกินความจำเป็นและไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
2.2 กลุ่มบริการที่มีงบประมาณจัดสรรเป็นการเฉพาะ
- โรคจิต กรณีที่ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 15 วัน
- การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและสารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
- อุบัติเหตุการประสบภัยจากรถและผู้อยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประสบภัยจากรถเฉพาะส่วนที่บริษัทหรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย หลังจากใช้สิทธิ พ.ร.บ. ครบ จึงจะสามารถใช้สิทธิ
2.3 กลุ่มบริการอื่น ๆ
โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นต้องรักษาเนื่องจากการแทรกซ้อน หรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
ช่องทางการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล
- ติดต่อด้วยตนเองได้ที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับผู้พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อสำนักงานเขตของ กทม. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม.
- บริการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบอัตโนมัติ
-
- โทร.1330 กด 2 ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ค่าบริการ 3 บาท/ครั้ง)
- ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทาง www.nhso.go.th สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล