ที่เราชื่นชมแจ็คหม่าว่าเก่ง ไม่ใช่เพราะเขาเป็นเจ้าของอลีบาบา แต่เพราะเรารู้ว่าเขาเริ่มต้นจาก 0 แล้วเดินทางไกลมาจนสำเร็จยิ่งใหญ่ เนื้อวัวมีหลายเกรด แต่ละเกรดจริง ๆ ก็อร่อยไม่ต่างกันเท่าไรแต่สิ่งที่ทำให้เนื้อวัวแต่ละเกรดต่างกันแบบเห็นได้ชัดคือ เรื่องเล่า “การเดินทาง” ของเนื้อวัวแต่ละเกรดว่าเป็นมายังไง ขุนด้วยธัญพืชร้อยวัน เลี้ยงบนทุ่งเปิด เปิดเพลงให้ฟัง กางมุ้งให้นอน ฯลฯ แล้วเราก็อินกับ “การเดินทาง” นั้น ก่อนตัดสินใจเลือกว่าเนื้อแบบไหนโดนใจเรามากที่สุด
นิทานชาวนากับงูเห่าที่กลายเป็น เรื่องเล่า ที่ถูกพูดถึงนั้น หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ “ชาวนาถูกงูเห่ากัดตาย” แต่อยู่ที่ กว่าจะถูกงูเห่ากัดตาย การเดินทางระหว่างชาวนากับงูเห่ามันมีความหมายให้คนจดจำคือ ชาวนาเก็บงูเห่ากำลังใกล้ตาย มาเลี้ยงดู อยู่ด้วยกัน ผูกพันกัน แต่สุดท้าย กลับถูกกัดตาย
หรือถ้าเราจะมาเล่าว่า วันนี้เรารวยเป็นร้อยล้าน แม้คนจะชื่นชอบความรวยจะอยากรวย แต่การรวยร้อยล้านของเราก็แทบจะไม่น่าสนใจเลย กลับกันหากเราใส่ “การเดินทาง” ของเราเข้าไปว่า กว่าจะมารวยร้อยล้านนั้น เราผ่านอะไรมาบ้าง เจออะไรบ้าง เพียงเท่านี้ เรื่องเล่า ของเราที่เป็นคนรวยร้อยล้านก็จะน่าฟัง น่าติดตามมากขึ้น
“การเดินทาง” สำคัญกว่า “จุดหมาย” ไม่ได้ใช้ได้แค่กับชีวิตเท่านั้น แต่กับเรื่องเล่าเองด้วยก็เช่นกัน ที่จริงแล้ว เรื่องเล่าจะมีพลังแค่ไหน ทำให้คนรู้สึกอินได้มากเพียงใด ก็อยู่ที่เรา “สร้างการเดินทาง” ให้กับ “ตัวละครเอก” ในเรื่องเล่าได้น่าติดตามน่าสนใจมากแค่ไหน
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมในการสร้างเรื่องเล่าให้ดูน่าดึงดูดใจ จึงต้องใส่รายละเอียดที่มาที่ไป กว่าจะมาเป็นผลลัพธ์ใส่การเดินทางให้กับเรื่องเล่าให้กับตัวละครในเรื่องเล่าด้วย เพื่อให้คนฟังค่อย ๆ ก้าวเดินไปตามเรื่องที่เราเล่า แล้วไปถึงจุดหมายที่เป็นความสำเร็จไปพร้อม ๆ กันกับเรา