ในการเขียนบทความสักบทหนึ่งนั้น หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ทราบหรือไม่ครับว่า กว่าจะบทความ 1 บท หรือกว่าจะได้แต่ละหน้าออกมานั้น มันขั้นตอนและต้องใช้เวลามากอยู่พบสมควรเลยทีเดียว ซึ่งยังไม่นับการอ่านทวนซ้ำ เพื่อแก้ไขบทความให้ดีที่สุดอีก นั่นจึงทำให้สำหรับมือใหม่หัดเขียนบทความแล้ว อาจเกิดอาการท้อใจได้เมื่อรู้สึกว่ากว่าจะเขียนได้แต่ละบทเล่นเอาหมดไปเป็นวันๆ เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เองแหละครับ วันนี้เราจึงจะพาไปพบกับ 5 วิธีที่จะช่วยเร่งสปีดในการเขียนของเราให้ไว้ขึ้น และง่ายขึ้นได้ เพื่อให้มีกำลังใจและยังมีไฟเขียนงานต่อได้เรื่อยๆ จนพัฒนาตัวเองได้ในที่สุด
1. เริ่มต้นที่หัวข้อ ประเด็นสำคัญที่จะเขียนเสมอ
อย่าเขียนบทความโดยที่คิดอะไรก็เขียนไปเรื่อยเด็ดขาด เพราะมันจะทำให้เราเขียนไปแล้วหาที่ลงยาก และจบลำบากจนบางทีต้องย้อนกลับมารื้อเขียนใหม่ทั้งหมด ดังนั้น จงเริ่มต้นเขียนบทความจาก “ชื่อบทความก่อน” โดยต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า จะเขียนเรื่องอะไร สาระสำคัญคืออะไร แล้วเขียนออกมาเป็นชื่อบทความ เช่น 5 วิธีลดน้ำหนัก โดยไม่ต้องออกกำลังกาย หรือ 7 ร้านกาแฟน่านั่ง ที่ใครไม่ได้นั่งถือว่าพลาดอย่างแรง ฯลฯ การได้หัวข้อบทความแบบนี้ จะทำให้เราโฟกัสเนื้อหาได้ดี ร่าต่อไปจะต้องทำอะไรต่อ และสามารถที่จะจบบทความได้เร็วกว่าการนึกไปเขียนไปหลายเท่า
2. วางโครงเรื่องเอาไว้คร่าวๆ ถ้าไม่อยากให้ยาวให้แบ่งเนื้อหาเป็นข้อๆ
หลังจากเริ่มต้นด้วยการได้หัวข้อบทความที่จะเขียนแล้ว ก็ให้เราลองวางโครงเรื่องของบทความดูครับ โดยฉบับที่ง่ายๆ ที่สุดก็คือ ตามแบบที่เรียนกันมาเลย ได้แก่ คำนำ (เกริ่นก่อนเข้าเรื่องอย่างไร) ตามด้วยเนื้อเรื่อง (เล่าเนื้อหาไปเต็มๆ) และปิดจบท้ายด้วยสรุป (ทิ้งท้ายให้ประทับใจ จบให้คนทำได้ย้ำถึงคำตอบของชื่อบทความ) แต่ทั้งนี้ การวางโครงเรื่องแบบนี้อาจทำให้เรากำหนดความยาวของเนื้อหาได้ยาก และรู้ว่าเขียนยากสำหรับมือใหม่ โดยอาจไม่แน่ใจว่า คำนำควรเยอะแค่ไหน เนื้อเรื่องควรยาวเท่าไร จะกรุ๊ปประเด็นอย่างไร ก่อให้เกิดความสับสนขณะเขียน และกินเวลานานจนท้อ
ดังนั้น วิธีแก้ก็คือ การแบ่งเรื่องที่จะเขียนเป็นข้อ ซึ่งถึงแม้หัวข้อบทความจะไม่ได้บอกเอาไว้ก็เถอะ เราก็สามารถ List เนื้อหาออกมาเป็นข้อๆ ได้ เช่น หัวข้อบทความคือ ออกกำลังกายอย่างไรให้เห็นผลใน 7 วัน แล้วเราก็ลิสต์หัวข้อใหญ่ๆ ออกมาก่อนว่า หนึ่งคือควบคุมอาหาร สองออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามไม่นอนดึก สี่ออกกำลังกายให้นานพอ ฯลฯ อะไรประมาณนี้เป็นต้นครับ เพราะการทำแบบนี้จะทำให้เราโฟกัสสิ่งที่จะเขียนในเนื้อเรื่องได้ชัดเจนขึ้น และแบ่งทอนประเด็นได้ชัดขึ้น ทำให้เขียนง่ายขึ้น และผู้อ่านก็อ่านได้ง่ายขึ้นด้วย โดยถึงแม้เนื้อเรื่องจะเยอะข้อ แต่ก็ถูกซอยย่อยแล้ว ทำให้ง่ายต่อการอ่านและจดจำสาระสำคัญ
3. หาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนลงมือทำการเขียน
แน่นอนว่าถ้าเป็นบทความที่ใช้ความรู้สึกเขียนแล้วล่ะก็ เราอาจไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหาข้อมูลอะไร แค่กลั่นมันออกมาจากความรู้สึก แต่กับบทความ How To แล้ว ข้อมูลนับเป็นสิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องให้เวลาในการค้นหา ซึ่งการรวบรวมข้อมูลก่อนเขียน จะทำให้เรามีวัตถุดิบในการเขียนได้อย่างลื่นไหล และไม่ต้องหยุดชะงักในขณะที่กำลังเขียน
4. อ่านข้อมูลทั้งหมดให้เข้าใจ แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านภาษาของตัวเอง
นี่คือไฮไลท์สำคัญเลยสำหรับการเพิ่มสปีดในการเขียน จริงอยู่ที่การหาข้อมูลและการอ่านข้อมูลใช้เวลานาน แต่มันจะนานกว่ามาก ถ้าเรา เขียนไปแล้วก็ต้องมาเปิดข้อมูลอ่านตาม แล้วก็ลอกตาม การทำแบบนี้นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังทำให้บทความของเราไม่แตกต่างและกลายเป็นบทความก๊อปปี้ไปด้วย
ดังนั้น จงอ่านข้อมูลทั้งหมดที่หามาได้ให้เข้าใจ แล้วเปลี่ยนมันออกมาเป็นภาษาของเรา ที่มาพร้อมกับความคิดเห็น ที่วิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว ยิ่งถ้าเราเข้าใจข้อมูลเนื้อหามากเท่าไร เราก็จะสามารถเขียนได้ไว และเขียนได้ดี และแตกต่างมากเท่านั้น เพราะความเข้าใจนำมาซึ่งตัวอย่างที่แตกต่าง นำมาซึ่งการพรรณนาด้วยภาษาที่ไม่ซ้ำเดิม และนำมาซึ่งมุมมองที่ทำให้สิ่งที่เรากำลังเขียน กลายเป็นเรื่องใหม่ได้ แม้ในหัวข้อที่มีคนเคยเขียนมาแล้ว
5. อย่ากดดันตัวเองเรื่องสำนวนเกินไป รู้สึกอย่างไรเข้าใจอย่างไรจงเขียนออกไปแบบนั้น
บ่อยครั้งการพยายามเรียบเรียงประดิษฐ์ถ้อยคำสำนวนก็ทำให้เราใช้เวลาอยู่กับแต่ละบรรทัดนานเกินไป นานจนรู้สึกว่ามันยาก ยากซะจนทำให้เราหมดไฟในการเขียน อันที่จริงแล้วถึงแม้สำนวนภาษาจะมีความสำคัญ หากแต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ “การสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจ” บางทีภาษาง่ายๆ เรียบๆ ก็กลับมีเสน่ห์และทำให้ผู้อ่าน Get ได้มากกว่า
ดังนั้น สำหรับมือใหม่แล้ว เราควรฝึกเขียนด้วยภาษาที่อยู่ในความคิดเราเป็นหลัก ถ่ายทอดมันออกมาก่อน คิดอย่างไร พูดอย่างไร ก็เขียนออกมาแบบนั้น แล้วเราจะค่อยๆ สามารถพัฒนาปรับปรุงแก้ไขสำนวนของเราได้เอง โดยอัตโนมัติ
ความน่ากลัวที่สุดของการเป็นนักเขียน คือ “การที่หัวสมองตีบตัน” และเฝ้ามองหน้ากระดาษสีขาวว่างเปล่าเป็นเวลานานๆ วิธีเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยให้เราเขียนบทความได้ไวมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้เราก้าวข้ามผ่านอุปสรรคของการคิดไม่ออกไปได้ด้วยทางหนึ่ง เพราะกระบวนการเริ่มต้นนั้นเป็นการวางโครงสร้างของการเขียน ทำให้เรารู้ว่าเราจะเขียนอะไร เขียนยังไง อันไหนก่อนอันไหนหลัง และการหาข้อมูลก่อน อ่านข้อมูลและวิเคราะห์ทำความเข้าใจก่อน ก็จะทำให้เราเขียนออกมาจากความคิด ความรู้สึก และความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เขียนออกมาจากการหยิบข้อมูลมาเขียนทีละนิดๆ
ทั้งนี้ หากฝึกฝนเขียนบ่อยๆ ตามหลักการ 5 ข้อนี้ ก็จะทำให้ทักษะการเขียนเราพัฒนาขึ้น และทำให้เราเขียนได้ไวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเขียนไวขึ้น ก็จะทำให้เรามีโอกาสรับงานได้มากขึ้นด้วย หรือทำให้เราสามารถผลิตผลงานออกเผยแพร่ได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อเส้นทางสายอาชีพนักเขียนที่เราเลือกเดิน
แนะนำบทความเกี่ยวกับการเขียน
- การเขียนบทความคุณภาพควรยาวแค่ไหน
- เขียนบทความลงเพจอย่างไรให้ขายของได้
- Story Telling กำไรร้อยเท่าแค่มีเรื่องเล่าที่โดนใจ
- เสียดายคนเป็นนักเขียนไม่ได้อ่าน เทคนิคจากคุณดังตฤน
Add friend Line@ Work360
รับฟรี Ebook สรุปหนังสือ 3 เล่ม
พร้อมเข้ากลุ่มเรียนฟรีการตลาดออนไลน์
ทั้ง Facebook YouTube Website
☑️ U R a Brand
☑️ Follow Your Heart
☑️ ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน
รับฟรีคลิกเลย https://line.me/R/ti/p/%40work360